Monday, January 25, 2010

Hegel on Love: ในความรัก ฉันค้นพบตัวตนของฉัน ในตัวตนของเธอ, เธอค้นพบตัวตนของเธอ ในตัวตนของฉัน



The more I give to thee the more I have
(ยิ่งฉันให้เธอมาก ฉันยิ่งมีมาก)


เฮเกลอ้างข้อความนี้จาก โรมีโอกับจูเลียต ในงานที่รู้จักกันในชื่อว่า Fragment on Love (ชิ้นส่วนต้นฉบับงานเขียนว่าด้วยความรัก) ซึ่งเขียนในปี 1797-1798 ระหว่างที่เขาอยู่แฟรงเฟิร์ต เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของเขาว่า ในความรัก ขั้วตรงข้าม (opposites) ระหว่าง "อัตตา" (Self) หรือ Subject (องค์ประธาน) กับ "ผู้อื่น" (Other) หรือ Object (สิ่ง) ได้รวมเป็นเอกภาพ (identity / unity) โดยที่การรวมเป็นเอกภาพนี้ เป็นการรวมที่รักษาความแตกต่าง เป็นการรวมในความแตกต่าง (unity-in-difference) และโดยผ่านความแตกต่าง

เพราะในความรัก แต่ละคนจะ "สูญเสีย" ความเป็นตัวเองให้กับคนรักของตน คือสละการยึดตัวเองในฐานะปัจเจก (as an individual) แต่พร้อมกับการทิ้งความเป็นปัจเจกของตัวเอง แต่ละคนก็จะ "ได้" หรือ "ค้นพบตัวเอง" ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งใหม่ที่มากกว่าตัวเอง (as part of a wider whole)

ในความรัก จึงมีทั้งช่วง (moment) ของการสละตัวเอง (self-surrender) และช่วงของการค้นพบตัวเอง (self-discovery)

นี่คือความหมายของกระบวนการย้อนแย้ง (paradoxical) ของความรัก ดังที่จูเลียตบอกต่อโรมีโอว่า "ยิ่งฉันให้เธอมาก, ฉันยิ่งมีมาก"

ในความรัก การที่แต่ละคนสละความเป็นตัวเองให้กับผู้อื่น(คนรักของตน) และค้นพบความเป็นตัวเองในผู้อื่น เท่ากับว่า แต่ละคนได้ทำให้ตัวตนภายในของตนกลายเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกในผู้อื่น หรือ externalization (เปลี่ยนภายในเป็นภายนอก) ขณะเดียวกัน ก็ทำให้สิ่งที่อยู่ภายนอกคือคนรักของตนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนภายในของตัวเอง หรือ internaalization (เปลี่ยนภายนอกเป็นภายใน) ถ้าการเปลี่ยนตัวตนภายในเป็นภายนอก (externalization) ถือว่าเป็นช่วงของการปฏิเสธตัวเอง (self-negation) ช่วงการเปลี่ยนให้ภายนอกหรือคนรักของตนเป็นส่วนหนึ่งของตน (internalization) ก็ต้องถือเป็นช่วงของการยืนยันความเป็นตัวเอง (self-affirmation) หรือการปฏิเสธการปฏิเสธตัวเอง (negation of self-negation)

ในความรัก ฉันค้นพบตัวตนของฉัน ในตัวตนของเธอ, เธอค้นพบตัวตนของเธอ ในตัวตนของฉัน
The self (the subject) finds itself in the other (the object) as the other finds itself in the self.

ความรัก จึงเป็นเอกภาพระหว่างตัวตนและผู้อื่น self and the other ระหว่าง subject กับ object หรือ subject-object identity แต่ขณะเดียวกัน ในเอกภาพนี้ ก็มีความแตกต่างอยู่ด้วย คือ แต่ละคน รัก คนรัก เพราะคนรักมีความแตกต่างจากตน เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตน ความรักเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อแต่ละคนยอมรับว่าอีกคนหนึ่งมีฐานะเป็นอิสระและเท่าเทียมกับตน (ไม่ใช่ต่ำกว่าหรือต้องขึ้นต่อตน) ดังนั้น จึงมีทั้งด้านที่ไม่เอกภาพ, ที่เป็นอิสระต่อกัน หรือ subject-object non-identity อยู่ด้วย

ความรักจึงเป็น เอกภาพของทั้งความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ
identity of identity and non-identity


ในตอนหนึ่งของงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เฮเกลเรียกกระบวนการทั้งหมดของการสูญเสียตัวเอง-ค้นพบตัวเอง (self-surrender / self-discovery), การทำให้ภายในของตัวเองเป็นสิ่งภายนอก-ทำให้สิ่งภายนอกเป็นส่วนหนึ่งของภายในตัวเอง (externalization / internalization) ว่า "สปิริต" (Spirit หรือ Geist ในภาษาเยอรมัน) นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างจินตภาพที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ปรัชญา . . . .




........................

กรุงเทพ
25 มกราคม 2010

No comments: