Thursday, December 31, 2009

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เข้าใจผิด เรื่อง แดร์ริดา และ "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" / differance



กลางปีที่แล้ว (2551) ในขณะที่กระแสความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง "2 ขั้ว" เป็นไปอย่างแหลมคม วิภาษา ได้ตีพิมพ์บทความของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เรื่อง "การเมืองวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition)" (ปีที่ 2 ฉบับที่ 3, 16 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2551, หน้า 5-9 ไชยรัตน์อธิบายว่า บทความเป็นการเรียบเรียงการการบรรยายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปีเดียวกัน) ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด บทความนี้ นอกจากความเป็นงานวิชาการในลักษณะที่ วิภาษา และ ไชยรัตน์ เผยแพร่ตามปกติ (เขาเป็นคอลัมนิสต์ประจำ) ไชยรัตน์น่าจะตั้งใจให้เป็น (ถ้าใช้คำที่ในแวดวงนั้นนิยม) "การแทรกแซงทางการเมือง" (political intervention) ครั้งหนึ่งด้วย [ดร.บัณฑิต บ.ก. วิภาษา บอกผมในการสนทนาที่สถาบันปรีดี ในระหว่างจัดงานนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับ 6 ตุลา (โดยศิลปิน 3 คนที่เกลียดสมัคร และต้องการตอบโต้สัมภาษณ์ของสมัครเรื่อง "มีคนตายคนเดียว") ว่า ไชยรัตน์ ได้ขอให้ตีพิมพ์บทความนี้ "แทรก-คั่น" เข้ามา จากที่เดิมจะตีพิมพ์เรื่องอื่น นัยว่า เป็นการสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองขณะนั้น - ถ้านี่เป็นความเข้าใจผิดของผมเอง ต้องขออภัย แต่ผมได้ impression จากการสนทนากับ ดร.บัณฑิต เช่นนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การวิจารณ์ของผมข้างล่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเด็นความจริง-ไม่จริงในเรื่องนี้]

ใครที่คุ้นเคยกับแวดวงวิชาการร่วมสมัยที่เรียกกันว่า "ทวนกระแส" (ถ้าเป็นสมัยก่อนคงใช้คำว่า "ซ้าย" แต่สมัยนี้ คำนี้อาจจะไม่เหมาะสม) หรือแม้แต่แวดวง ngo (ใครที่อ่านบทความใน ประชาไท อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น) น่าจะอย่างน้อยเคยได้ยินคำว่า "กับดักคู่ตรงข้าม" มาบ้าง อาจจะเคยเห็นการใช้ภาษาอังกฤษ Binary Opposition หรืออ้างชื่อ Jacques Derrida กำกับไว้ด้วย อันที่จริง กล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในคำที่ "ใช้กันเกร่อ" ในแวดวงดังกล่าว (อีกคำคือ "วาทกรรม") ช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่าง "2 ขั้ว" ในการเมืองไทยเมื่อปีกลาย ดูเหมือนจะมีการนำคำนี้มาอ้างกัน โดยโยงเข้ากับความขัดแย้งนั้น หลายครั้งทีเดียว (ไชยรัตน์ อาจจะเป็นกรณีหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น)

บอกตามตรงว่า ทุกครั้งที่ผมเห็นการใช้คำนี้ ผมมักจะยักไหล่(ในใจ)เสียมากกว่า เพราะเท่าที่ผมเคยผ่านๆตา ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เป็นการใช้ชนิดที่ "จำๆตามกันมา" โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้แสดงให้เห็นความเข้าใจมากมายอะไร ระบบความคิดของแดร์ริดานั้น มีรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งอยู่ที่ปรัชญาของเฮเกล และสำนัก German Idealism และเท่าที่ผมเห็นในขณะนี้ เกือบทั้งหมดที่อ้างแดร์ริดาบ่อยๆ ไม่มีใครได้แสดงให้เห็นว่า จะมีความเข้าใจในปรัชญาของสำนักดังกล่าวหรือของเฮเกล (ตอนนี้ที่กำลัง "มาแรง" คือการอ้าง Zizek ซึ่งมีฐานความคิดอยู่ที่เฮเกลเหมือนกัน) ที่สำคัญคือ การอ้างแทบจะทุกครั้งที่ผมผ่านตามา ผู้อ้างไม่เคยได้แสดงให้เห็นว่าได้ think through หรือ "คิดให้ตลอด" โดยแท้จริงว่า ที่ชอบพูดๆว่า "กับดักคู่ตรงข้ามๆๆ" นั้น มันผิดหรือถูกอย่างไรกันแน่ และนัยยะของการ "คิดแบบคู่ตรงข้าม" หรือ "ไม่คิดแบบคู่ตรงข้าม" คืออะไร พูดอีกอย่างคือ ดูราวกับว่า ผู้อ้างส่วนใหญ่ อ้างคำนี้ เหมือนเป็น "คาถา" หรือ "สูตรสวดมนต์" คือ ขอแต่ให้ได้เอ่ยออกมา ก็เป็นอันใช้ได้ว่า ผู้เอ่ยอ้างมีความถูกต้อง และผู้ที่ถูกผู้เอ่ยอ้างเอาคำนี้ไป "วิพากษ์" เป็นฝ่ายผิด หรือคิดไม่เป็น "คุณนี่ชอบคิดแบบคู่ตรงข้าม ดังนั้น คุณจึงผิด" อะไรทำนองนี้ เท่านั้นเอง (ส่วน "ผิด" จริงๆอย่างไร ดูเหมือนผู้อ้างไม่รู้สึกว่า จำเป็นต้องคิดให้ตลอดหรืออภิปรายให้ถึงที่สุด)

แน่นอนการวิจารณ์ของผมที่เพิ่งผ่านมานี้ คงไม่มีใครที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ในเมืองไทย คิดว่าจะสามารถใช้ apply กับ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้ เพราะไชยรัตน์เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ดูเหมือนจะเชี่ยวชาญในเรื่องปรัชญาแบบที่เรียกว่า Continental philosophy มาก เขียนและพูดแต่เรื่องนี้มาเป็นสิบปี ดังนั้น ถ้าไชยรัตน์จะเขียนหรือพูดเรื่องแดร์ริดา หรือ Binary Opposition ก็คง "เชื่อถือได้" ว่า คงพูดถูกและลึกซึ้งแน่นอน อันที่จริง เขาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญ(ที่สุด?)ที่ทำให้เรื่องแบบนี้กลายเป็นที่สนใจของวงวิชาการบ้านเราเองแต่แรก ดังนั้น ถ้าไชยรัตน์จะพูดหรือเขียนเรื่องนี้ จะต้องไม่ผิดแน่ๆ เชื่อข้าวแกงกินได้เลย อะไรทำนองนั้น

แต่ ... เป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

ในบทความ วิภาษา ดังกล่าว ไชยรัตน์ ได้เขียนดังนี้ - ผมขออภัยที่จำเป็นต้องอ้างมายาวๆ โปรดสังเกตส่วนที่ผมทำตัว bold ไว้ โดยเฉพาะ ที่เป็นตัว bold สีแดง ซึ่งผมจะวิจารณ์ข้างหน้า และโปรดเข้าใจด้วยว่า เนื่องจากเว็บบอร์ดไม่สามารถใส่ accent ได้ จึงไม่มีขีดเหนือตัว e ตัวแรก อย่างในต้นฉบับ :
ข้อดีประการหนึ่งของวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามอยู่ที่การช่วยจัดระบบ ระเบียบสรรพสิ่งต่างๆในสังคม กำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้กับสรรพสิ่งในสังคม พร้อมกำหนดการรับรู้ของคนในสังคมไปพร้อมๆกันด้วย ส่วนข้อเสียที่สำคัญของวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามมีอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามเก็บกด ปิดกั้น กดทับอีกข้างของคู่ตรงข้ามไว้ ทั้งๆที่จำเป็นต้องอาศัยหรือใช้ประโยชน์จากคู่ตรงข้ามในการสร้างตัวตนของตนขึ้นมา เนื่องจากเอกลักษณ์เป็นเรื่องของระบบความแตกต่าง เช่นความเป็นผู้ชายต้องอาศัยความเป็นผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดตัวตน เพียงแต่วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามจะเลือกชูข้างหนึ่งของคู่ตรงข้ามและเก็บกดอีกข้างไว้ ทั้งๆที่ใช้ประโยชน์จากข้างที่ถูกเก็บกดอย่างมหาศาล วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามจึงเป็นวิธีคิดที่ใช้ความรุนแรง กระทำความรุนแรงกับอีกฝ่ายอย่างมาก

ประการที่สอง วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามเป็นวิธีคิดที่ไม่มีที่ว่างหรือไม่มีพื้นที่ให้กับสรรพสิ่งที่ไม่สามารถจับเข้าขั้วใดขั้วหนึ่งของคู่ตรงข้ามได้ เช่น ไม่มีที่ว่างให้กับกระเทยในกรณีของการคิดแบบแยกชาย-หญิงเด็ดขาด วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามจึงเป็นวิธีคิดที่มีลักษณะคับแคบและแข็งทื่อ ประการที่สาม วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามจะนำไปสู่สังคมที่เน้นการทำให้เป็นปกติธรรมดา เป็นสังคมที่มีความขยันในการผลิตคู่ตรงข้าม ที่ทำหน้าที่เป็น "สิ่งที่ผิดปกติ" ของสังคมเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ผุดผ่องให้กับระบบที่ดำรงอยู่ เช่น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ มองการเดินขบวนประท้วงของประชาชนว่าเป็น "สิ่งผิดปกติ" เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ใช่การปรึกษาหารือ ในทำนองเดียวกัน สังคมไทยแต่ละยุคสมัยก็จะมีการผลิต "สิ่งผิดปกติ" ของสังคมขึ้นมา เช่น คนไม่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ความพยายามที่จะก้าวข้ามไปจากวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม

จากจุดอ่อนหลักสามประการข้างต้นของวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม ทำให้ไม่อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบเสมอภาคและเท่าเทียมกันและการพัฒนาประชาธิปไตย ในหมู่นักทฤษฎีแนววิพากษ์ยุคใหม่ มีความพยายามเสนอวิธีคิดแบบอื่นที่จะสามารถก้าวข้ามไปจากวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม นักทฤษฎีแนววิพากษ์ยุคใหม่มีวิธีคิดในแบบของสำนักหลังโครงสร้างนิยมมากกว่าในแบบของสำนักมาร์กซิสต์อย่างในอดีตที่รู้จักกันในชื่อของสำนักแฟรงก์เฟิร์ต

ตัวอย่างแรกของความพยายามที่จะก้าวข้ามไปจากวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม ได้แก่ความคิดเรื่อง "ความหลากเลื่อน" (differance ของฌาคส์ แดร์ริดา วิธีคิดแบบ "ความหลากเลื่อน" เป็นวิธีคิดที่ล้อระหว่างการปรากฏและการไม่ปรากฏไปพร้อมๆกัน จึงเป็นวิธีคิดที่อยู่ตรงข้ามกับวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม สำหรับแดร์ริดา differance ที่สะกดด้วยพยัญชนะตัว "a" ไม่ดำรงอยู่ในระบบคิดของเรา เราจะเห็นความแตกต่างหรือรับรู้การดำรงอยู่ของคำนี้ได้ก็ด้วยการเขียน ไม่ใช่การฟัง ฉะนั้น พยัญชนะตัว "a" ใน differance จึงเป็นความเงียบไม่มีใครได้ยิน เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏ แม้แต่ในภาษาเขียนก็ไม่มีตัวสะกดของคำนี้ มีแต่คำที่สะกดด้วยตัว "e" (difference)

สำหรับแดร์ริดา differance ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น ลดทอนลงเป็นอะไรก็ไม่ได้ หาจุดเริ่มต้นก็ไม่ได้ ไม่ใช่คำในภาษาและก็ไม่ใช่มโนทัศน์ แต่มีฐานะเท่ากับช่องว่างหรือเว้นวรรค (spacing) ในภาษาเขียน "เว้นวรรค" ดูว่างเปล่าแต่มิได้ไร้ความหมาย เว้นวรรคมีความหมายว่าให้หยุดพักชั่วคราว เป็นต้น จากมุมมองของ differance ความหมายไม่ใช่เรื่องที่หยุดนิ่งตายตัว แต่เป็นผลมาจากการถักทอของความแตกต่าง ดังนั้น จึงไม่มีความหมายที่สมบูรณ์ ครบถ้วน หยุดนิ่ง ตายตัว จะมีก็แต่การเลื่อนหรือเคลื่อนออกไปเสมอขึ้นกับการเชื่อมต่อของความแตกต่างแต่ละแบบ differance จึงเป็นวิธีคิดที่อยู่คนละขั้วกับวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามที่เน้นความสมบูรณ์เด็ดขาด differance จึงเป็นหลายๆอย่างได้ในเวลาเดียวกัน
สิ่งที่เซอร์ไพรส์ผมมากๆเมื่ออ่านข้อความนี้ คือ ไชยรัตน์สามารถพูดและเขียนอย่างข้างต้นนี้ได้อย่างไร โดยไม่สะดุดใจว่า เป็นการปฏิเสธตัวเอง (self-refuting) อย่างชัดเจน คือ ในขณะที่กำลัง"วิพากษ์" เรื่อง "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" แต่ในข้อความที่ผมทำตัวหนาสีแดง ไชยรัตน์เองไมใช่กำลังเป็นการแสดงออกของวิธีคิดแบบ "คู่ตรงข้าม" หรอกหรือ? ถ้า differance เป็น "วิธีคิดที่อยู่คนละขั้วกับวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" diffeance ก็เป็นเพียง "ขั้ว" หนี่งของ "คู่ตรงข้าม" (คู่ใหม่) และ ไชยรัตน์ ก็กำลัง "คิดแบบคู่ตรงข้าม" (โดยมี "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" อยู่ "ขั้ว" หนึ่ง และ differance อยู่อีก "ขั้ว" หนึ่ง) นั่นเอง!!

อันที่จริง ถ้าอ่านทั้งหมดนี้ (ไม่เฉพาะที่ผมทำตัวแดงหนา) ไชยรัตน์หรือใครก็ตามน่าจะเอะใจว่า ไชยรัตน์กำลังพูดหรือเสนอตามแบบ "วิธีคิด" ที่เขาเรียกว่า "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ที่เขาเองปฏิเสธ ชัดๆ โดยที่ด้านหนึ่งของ "คู่ตรงข้าม" นี้ ไชยรัตน์เรียกว่า "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ส่วนอีกด้านหนึ่ง เขาเรียกว่า "differance" ซึ่งเป็น "วิธีคิดที่อยู่คนละขั้ว" คือ "ตรงข้าม" กัน (ลองดูตัวอย่างที่ไชยรัตน์พูดว่า "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามเก็บกด ปิดกั้น กดทับอีกข้างของคู่ตรงข้ามไว้ ทั้งๆที่จำเป็นต้องอาศัยหรือใช้ประโยชน์จากคู่ตรงข้ามในการสร้างตัวตนของตนขึ้นมา" - การนำเสนอเรื่อง differance ของไชยรัตน์ทั้งหมด ไม่ใช่การ "ปิดกั้น กดทับ" สิ่งที่เขาเรียกว่า "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" หรอกหรือ?!! ความจริง เขาควรเฉลียวใจว่า ไม่สามารถนำเสนอทั้ง "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" และ differance ในลักษณะนี้)

ไชยรัตน์ไม่รู้ตัวแม้แต่น้อยว่า โดยการนำเสนอในลักษณะแบบเขานี้ เขากำลัง "ขยันในการผลิดคู่ตรงข้าม ที่ทำหน้าที่เป็น 'สิ่งผิดปกติ' ของสังคม [ในทีนี้คือ สิ่งที่เขาเรียกว่า "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ที่เป็น "สิ่งผิด" ของ "วิธีคิด" - สมศักดิ์] เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ผุดผ่องให้กับ...." differance นั่นเอง! เขากำลัง "เลือกชูข้างหนึ่งของคู่ตรงข้าม" [differance] แล้ว "เก็บกดอีกข้างไว้" [วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม]

และอันที่จริง ถ้า "differance จึงเป็นหลายๆอย่างได้ในเวลาเดียวกัน" ตามที่ไชยรัตน์เขียนเองแล้ว "อย่างหนึ่ง" ใน "หลายๆอย่าง" นั้น ก็ควรต้องรวมถึง การเป็น "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ด้วยไม่ใช่หรือ? หรืออย่างน้อย ต้องรวมถึง "อย่าง" ที่ไมใช่ "ตรงข้าม/คนละขั้ว" กับ "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ด้วย มิเช่นนั้น ก็ไม่นับเป็น "หลายๆอย่าง" แล้ว เพราะถ้าล้วนแต่เป็น "อย่าง" ที่เป็น "ตรงข้าม/คนละขั้ว" เท่านั้น ก็แสดงว่า ไม่ใช่ "หลายๆอย่าง" จริง ("อย่าง" ย่อมหมายถึง "ชนิด" ถ้ามีแต่เฉพาะ "อย่าง" หรือ "ชนิด" ที่เป็น "ตรงข้าม/คนละขั้ว" ก็ไม่นับว่า "หลายๆ" อย่าง/ชนิด จริงๆ) สรุปแล้ว ไชยรัตน์ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเขียนโดยแท้จริง

ไชยรัตน์เล่าได้ถูกต้องที่ว่า สำหรับแดร์ริดา diffeance "ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ลดทอนลงเป็นอะไรก็ไม่ได้" คือ ให้การนิยามโดยแท้จริงไม่ได้ แต่จากที่เขียนมานี้ แสดงว่า ไชยรัตน์ไม่เข้าใจหลักคิดเบื้องหลังโดยแท้จริง การที่ "ลดทอนไม่ได้" หรือ นิยามไม่ได้ รวมทั้งนิยามแบบที่ไชยรัตน์ทำ ไม่ได้ ("เป็นวิธีคิดที่อยู่คนละขั้วกับวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม") ก็เพราะ ถ้านิยาม ว่าคืออะไร ก็เท่ากับ ทำให้ differance ต้องขึ้นต่อสิ่งที่ใช้มานิยามนั้น (de - fine = [ถูก]"จำกัดลงไป" โดย..) หรือในกรณีไชยรัตน์ที่เพิ่งเห็นคือ เท่ากับทำให้ differance กลายมาเป็น "ขั้ว" หนึ่งของ "คู่ตรงข้าม" ไปเสียเอง แล้วสิ่งที่ใช้มานิยาม differance นั้น ก็จะกลายเป็น "เงื่อนไข" ของ differance และ differance ก็จะไม่ใช่เงื่อนไขสุดท้ายแท้จริง(ของ discourse) เพราะจะมีสิ่งอื่นที่เป็น "เงื่อนไขของเงื่อนไข" แทน โดย differance จะเป็นเพียง conditioned condition หรือเงื่อนไข [Bedingung] ที่ตัวเองก็ต้องมีอย่างอื่นเป็นเงื่อนไขอีก แต่สำหรับแดร์ริดา differance จะต้องเป็น "เงื่อนไขที่ไม่มีสิ่งอื่นใดมาเป็นเงื่อนไข" (หรือ "เงื่อนไขที่ไม่ขึ้นต่อเงื่อนไขใดๆ") อีก คือเป็น unconditioned condition หรือ Absolute [Unbedingte หรือ unthinged] ดังนั้น จึงนิยามไม่ได้ จึงเป็น "nothing" (not-a-thing ไม่ใช่แม้กระทั่ง "วิธีคิด" ["ที่อยู่คนละขั้วกับ..."] ดังที่ไชยรัตน์เข้าใจ)

ไอเดียเรื่อง condition of possibility ของสรรพสิ่ง (ของประสบการณ์, discourse ฯลฯ) ที่ตัวเอง ต้องไม่มีสิ่งอื่นมาเป็น condition of possibility ของตัวเองอีก มาจากปรัชญาที่เริ่มจาก Kant และพัฒนาโดยสำนัก German Idealism คำวา absolute คือคำที่พวกนี้ใช้เรียกสิ่งที่เป็นเงื่อนไขของสิ่งอื่น โดยที่ตัวเองไม่มีอะไรมาเป็นเงื่อนไขอีก (unconditioned condition) ไอเดียเรื่อง differance ของแดร์ริดา เป็นการสืบทอดจารีตวิธีคิดแบบนี้มา ที่ไชยรัตน์เขียนเรื่อง "ไม่มีความหมายสมบูรณ์..." แสดงว่าไม่ได้เข้าใจไอเดียเรื่อง unconditioned condition นี้ (ประเด็นไมใช่อยู่ที่ "สมบูรณ์" หรือ "ไม่สมบูรณ์") หรือที่เขียนเรื่อง "ผลมาจากการถักทอของความแตกต่าง" ก็เช่นกัน ("ผลมาจาก"?? "ถักทอของความแตกต่าง" คืออะไร?) อันที่จริง เรื่อง "ความหมายเป็นผลมาจากความแตกต่าง" นั้น เรื่องไม่ใช่ง่ายๆ อย่างที่ผู้นิยม "หลังโครงสร้าง" ในไทยเช่นไชยรัตน์เข้าใจ เรื่องนี้ Manfred Frank นักปรัชญาเยอรมันได้ชี้ให้เห็นมาเป็นสิบๆปีแล้วว่า เป็นจุดอ่อนของแดร์ริดา (ที่แดร์ริดาตอบไม่ได้) คือ ลำพังความแตกต่าง (ไม่ว่าระดับ sign หรือระดับความจริงของโลก) ไม่มีความหมายอะไร นอกจากต้องผ่านความหมายคงที่บางอย่างก่อน difference can only make sense via prior identity (จะรู้ได้ไงว่า a กับ b "แตกต่าง" ถ้าไม่รู้ก่อนระดับหนึ่งว่า เอกลักษณ์ของ a และ b คืออะไร? ไม่รู้ว่าแต่ละตัวคืออะไรก่อนระดับหนึ่ง? ดังนั้น การพูดซ้ำเป็นสูตรอย่างง่ายๆที่เห็นในเมืองไทย ว่า ความหมายของ a เป็น "ผลมาจากการแตกต่าง" จาก b จึงไม่ make sense)

......................

ข้อวิจารณ์ข้างบน ผมจำกัดเฉพาะประเด็น "การปฏิเสธตัวเอง" ของการพูดของไชยรัตน์ ในกรณี differance เป็น "คนละขั้วกับ" วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม เท่านั้น อันที่จริง ตามการเขียนของไชยรัตน์ข้างต้น คนที่ซีเรียส (และไม่เพียงชอบการ "ท่องคาถา" หรือ "สวดมนต์") ควรต้องตั้งคำถามต่อได้อีกมาก ถึงสิ่งที่ ไชยรัตน์เรียกว่า "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ที่ควรปฏิเสธนั้นเอง ว่า จริงหรือว่า มีข้อเสียดังที่ไชยรัตน์ว่ามา (ผมไม่ได้เสนอว่า สิ่งที่ไชยรัตน์เรียกว่าข้อเสีย ไม่ใช่ข้อเสีย แต่ถามว่า เป็นข้อเสียที่มาจาก "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" จริงหรือไม่อย่างไร)

และ ถ้าพูดแบบไชยรัตน์เอง จะอธิบายสิ่งที่เขาพูดในหัวข้อต่อมาได้อย่างไร นั่นคือ เมื่อเขาเอ่ยถึง "ความสัมพันธ์แบบเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และ ...ประชาธิปไตย" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นหลักการที่เขาสนับสนุนนั้น เขากำลังหมายถึงอะไร?

สำหรับเขา "เสมอภาคและเท่าเทียมกัน และ ประชาธิปไตย" ไมมี "คู่ตรงข้าม" ของมัน คือ "ไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมกัน และ เผด็จการ" หรือ?

เขาจะนิยามหรือให้ความหมายของ "เสมอภาค" อย่างไร ถ้าไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ "ความไม่เสมอภาค"? (และที่น่าคิดอีกอย่าง - จากประเด็น "ข้อเสีย" ที่เขากล่าวถึงข้างบน - คือ การคิด "แบบคู่ตรงข้าม" ระหว่าง "เสมอภาคเท่าเทียม" กับ "แบ่งชั้น-กดขี่" ด้านแรกจะเป็นการ "กดทับ ปิดกั้น" ด้านหลังอย่างไร?)

ถ้าไชยรัตน์ บอกว่า เขาพูดเรื่อง "เสมอภาค" โดยไม่ "คิดแบบคู่ตรงข้าม" กับ "ความไม่เสมอภาค" ก็ต้องถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้น มีเหตุผลอะไรที่จะต้องสนับสนุน "เสมอภาค ประชาธิปไตย ฯลฯ" ? ขอสนับสนุน "ไม่เสมอภาค-กดขี่" ฯลฯ แทนไม่ได้หรือ ในเมื่อก็ไม่ต่างกันอย่างชนิด "ตรงข้าม" กันอยู่แล้ว?!! (จะเลือก "เสมอภาค" ได้อย่างไร ถ้าไม่คิดว่าสิ่งนี้ "ตรงข้าม" กับ "ความไม่เสมอภาค" - ถ้าเช่นนั้น เราเลือก "ความไม่เสมอภาค" ก็ได้ ไม่ต่างกันถึงขั้น "ตรงข้าม" กันอยู่แล้ว)

ประเด็นนี้ พาเราตรงกลับไปที่เรื่องการเมืองของปีกลาย ในขณะนั้น มี "นักวิชาการ" จำนวนมาก ปฏิเสธที่จะ "ชี้ผิดชี้ถูก" บางคนถึงขั้นยกเอาคาถาหรือบทสวดมนต์ประเภท "กับดักของวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" กันขึ้นมาก็มี (ขออภัยจำชื่อบทความที่อ้างเรื่องนี้ตรงๆไม่ได้ แต่มีอยู่จริงๆใน ประชาไท) เพื่อจะอ้างความชอบธรรมให้กับการไม่ยอมบอกว่า ฝ่าย "เหลือง" หรือ ฝ่าย "แดง" เป็นฝ่ายผิด ระหว่าง "พันธมิตรฯ" ที่ปฏิเสธ-ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กับ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก

(นึกถึงแม้แต่กรณีกลุ่มนักวิชาการ "สันติประชาธรรม" ของ ธงชัย-ยุกติ-ประจักษ์-พวงทอง ฯลฯ ซึ่งผมได้โต้ในตอนนั้นว่า พวกนี้ เหมือนกับบอกว่า "คนที่ข่มขืน กับคนที่ถูกข่มขืน ชี้ไม่ได้ว่า ใครผิดใครถูก" (ไม่ว่า "คนที่ถูกข่มขืน" จะ "น่ารังเกียจ" สำหรับเราในแง่อื่นอย่างไร) ราวกับว่าถ้าชี้แล้วจะตกอยู่ใน "กับดักของคู่ตรงข้าม" - ผมไม่ได้หมายความว่าพวกเขาใช้คำนี้ตรงๆ ในทีนี้ เป็นการวิพากษ์วิธีคิดมากกว่า)

ผมไม่ทราบจริงๆว่า ไชยรัตน์เป็นหนึ่งใน"นักวิชาการ"ประเภทนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายเรื่อง "วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม" ของเขา เป็นการอภิปรายที่ผิวเผินในทางปรัชญา และในทางการเมือง (นึกถึงประเด็น "เสมอภาค" ฯลฯ ข้างต้น) ก็มีอันตรายของการจูงใจให้คนที่คิดแบบผิวเผิน เชื่อตามโดยไม่ยอมพิจารณาอย่างซีเรียสรอบคอบ (เพราะกำกับด้วย "บทสวด" ที่ดูขลังมาก Binary Opposition!!)

ปัญหาเรื่องเราจำเป็น ต้องคิดแบบ identity แบบ "ตรงข้าม" แค่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นปัญหาที่ลึกซึ้งทั้งในทางปรัชญาและในทางการเมือง ไม่ใช่อะไรที่ควรนำมาเสนอ "แบบคู่ตรงข้าม" ดังที่ไชยรัตน์ กำลังทำ ชนิด "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง" โดยไม่รู้ตัวเช่นนี้ด้วย ("ไม่ควรคิดแบบคู่ตรงข้ามนะ ต้องคิดแบบนี้ ซึ่งเป็น คู่ตรงข้าม ของ วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม"!) หลักการสำคัญเรื่อง "ประชาธิปไตย - ความเสมอภาค" ที่ผมเชื่อว่า ไชยรัตน์คงเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า เขาเองสนับสนุนเชิดชูอยู่ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี identity ต้องมี "ความตรงข้าม" (กับ เผด็จการ, ไม่เสมอภาค) แค่ไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายในบริบทที่ซับซ้อนมากกว่านี้

Friday, September 25, 2009

ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของ "ปรีดี" ที่เพิ่งเผยแพร่



ไม่กี่วันมานี้เอง ได้มีผู้นำภาพสแกนเอกสารที่อ้างว่าเป็นจดหมายของปรีดี พนมยงค์ ที่เล่าว่า ชิต สิงหเสนี หนึ่งในจำเลยคดีสวรรคตที่ถูกประหารชีวิต ได้บอกความลับอะไรให้ เผ่า ศรียานนท์ ฟัง ก่อนจะถูกนำตัวไปยิงเป้า มาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ภาษาอังกฤษบางแห่ง*

[*สำหรับท่านที่ไม่ทราบภูมิหลัง ผมขอเล่าสั้นๆว่า ก่อนที่ ชิต บุศย์ และ เฉลียว จะถูกนำตัวไปสู่หลักประหาร ในเช้ามืดของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 นั้น เผ่า ศรียานนท์ ได้เดินทางไปที่คุกบางขวาง ที่เป็นแดนประหาร เพื่อสังเกตการณ์การประหารชีวิตด้วย และมีรายงานข่าวทาง นสพ.ว่า เผ่า ได้สนทนากับผู้กำลังจะถูกประหาร บางข่าวก็ว่า สนทนากับ เฉลียว บางข่าวก็ว่า สนทนากับทั้ง 3 คน หลังจากนั้น ไม่นาน ก็มีข่าวลือว่า ผู้ถูกประหาร ได้เล่า "ความลับ" ให้เผ่าฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆบนพระที่นั่งบรมพิมารในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา เพราะ จอมพล ป ได้ส่งสาร (โดยให้ สังข์ พัธโนทัย มือขวาของเขา เป็นผู้ดำเนินการ) ไปยังปรีดี ทีเมืองจีน ขอให้หันมาร่วมมือกันอีก โดย จอมพล จะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลที่เผ่าได้จากการคุยกับจำเลยก่อนการประหารชีวิต ได้มีผู้นำจดหมายของปรีดี ที่เขียนตอบสังข์ ในเรื่องนี้มาตีพิมพ์แล้ว ผมเองได้คุยสัมภาษณ์อดีตผู้สนับสนุนปรีดีคนหนึ่งที่เป็นคนถือสารของจอมพล ป. ไปให้ปรีดีทีเมืองจีน ดูรายละเอียดในบทความของผม "ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และ รัฐประหาร 2500", ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, หน้า 31-35 และ “50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2548]

ตามคำอธิบายของผู้นำ "จดหมายปรีดี" ดังกล่าวมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ นี่เป็นจดหมายที่ปรีดี ส่งให้อดีต "ลูกศิษย์" คนหนึ่ง จดหมายฉบับนี้มาถึงมือผู้เผยแพร่ เพราะลูกชายของอดีต "ลูกศิษย์" ปรีดีคนนั้นมอบให้ผู้เผยแพร่ (ผู้เผยแพร่ใช้คำว่า French son of one of Pridi's ex-students ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่า อดีตลูกศิษย์ปรีดีคนดังกล่าวแต่งงานกับคนฝรั่งเศส แล้วมีลูกชายถือสัญชาติฝรั่งเศส) ผู้เผยแพร่กล่าวว่า ลูกชายของอดีตลูกศิษย์ปรีดีเล่าว่า จดหมายได้ถูกเก็บไว้ในตู้เก่าๆที่มีฝุ่นจับ โดยไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน แต่คุณพ่อของเขา (อดีตลูกศิษย์ปรีดี) ให้ความสำคัญและหวงแหนจดหมายนี้มาก "[the document] had remained locked away in a dusty cupboard all these years, and had been treasured by his father."

ผมไม่เคยเห็นจดหมายฉบับนี้มาก่อนเลย แต่เมื่อดูเฉพาะจากภาพสแกน และวิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายแล้ว ต้องบอกว่า ดู "เหมือนจริง" มาก (ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป)

ถ้าจดหมายนี้เป็น "ของจริง" จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในแง่ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรณีสวรรคต

1

ก่อนอื่น ผมขอเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีผู้อ่านงานของผมทางอินเตอร์เน็ตบางท่าน ส่งภาพสแกนเอกสารฉบับหนึ่งมาให้ผมพิจารณา โดยกล่าวว่า เป็นเอกสารที่ปรีดีทำขึ้น เอกสารดังกล่าว มี 2 หน้า เนื้อหาเล่าถึง คำบอกเล่าของ ชิต ต่อ เผ่า ในช่วงก่อนถูกประหารชีวิตว่า เกิดอะไรขึ้นบนพระที่นั่งบรมพิมารในเช้าวันสวรรคตในหลวงอานันท์

เอกสารมีลักษณะดังนี้ (ส่วนที่เป็นสีขาว คือส่วนที่ผมจำเป็นต้องเซนเซอร์ ตัดออก)


อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาแล้ว ผมได้ลงความเห็นว่า เอกสารนี้มีปัญหาในแง่ของความเป็นหลักฐานจริง (authentic) คือ น่าจะไม่ใช่เอกสารที่ปรีดีทำขึ้นจริงๆ

สำหรับท่านที่สนใจเชิงวิชาการ วิธีพิจารณาหลักฐานต่อไปนี้ คือเทคนิคทีนักประวัติศาสตร์เรียกว่า การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเริ่มจาก "การวิพากษ์ภายนอก" คือพิจารณาองค์ประกอบด้านรูปแบบภายนอกของเอกสาร และ "การวิพากษ์ภายใน" คือพิจารณาด้านเนื้อหาของเอกสารนั้น ตามลำดับ

ก่อนอื่นที่สุด ถ้าพิจารณาตัวพิมพ์ จะเห็นว่า เอกสารนี้ถูกพิมพ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (word processor) สามารถเรียงคำให้ขอบด้านขวามือของหน้าเท่ากับหมด (right justification) ซึ่งพิมพ์ดีดทำไม่ได้ ที่สำคัญ ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์คือตัวอักษรแบบ Cordia ที่เรารู้จักกันดีในขณะนี้ ปัญหาคือ ตัวอักษรชนิดนี้ยังไม่มีใช้ในระหว่างที่ปรีดียังมีชีวิตอยู่ (ปรีดีถึงแก่กรรม 2 พฤษภาคม 2526) อันที่จริง เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC ที่เรียกว่ารุ่น XT ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่มีการใช้แพร่หลาย เพิ่งผลิตออกมาในปี 2526 นั้นเอง และโปรแกรม word processor ภาษาไทย ที่มีการเริ่มใช้ในช่วงแรก คือ "ราชวิถี" กับ Word Star ก็ไม่มีตัวอักษรแบบ Cordia นี้ใช้

ยิ่งไปกว่านั้น ใครที่ศึกษางานของปรีดีอย่างใกล้ชิด อาจจะทราบว่า ปกติ งานเขียนของปรีดี ถ้าไม่ใช่ลายมือ ก็จะพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดไฟฟ้ายี่ห้อไอบีเอ็ม ซึ่งนิยมใช้อย่างจำกัดในหมู่ผู้ที่พอจะหาซื้อได้ในขณะนั้น (เช่นในองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ก่อน 6 ตุลา มีอยู่เครื่องหนึ่ง ถือว่าทันสมัยไม่น้อย) แบบตัวอักษรของพิมพ์ดีดนี้ ไมใช่แบบตัวอักษรตามที่ปรากฏในเอกสารนี้ (ดูเพิ่มเติมประเด็นแบบตัวอักษรพิมพ์ดีดไอบีเอ็มที่ปรีดีใช้ ข้างล่าง)

ในส่วนเนื้อหานั้น ส่วนที่เป็นของ "ปรีดี" อ่านแล้วไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นสำนวนของปรีดีเท่าใดนัก ทั้งในแง่คำบางคำที่ใช้ และการผูกรูปประโยคบางประโยค เช่น ตั้งแต่บรรทัดแรกสุดเลยที่ว่า "แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียง 122 วัน แต่ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้เปลี่ยนชีวิตของข้าพเจ้า ไปตลอดนั้นคือเหตุการณ์สวรรคต ของในหลวง รัชกาลที่ 8" หรือบรรทัดสุดท้ายของเอกสาร (หน้า 2) "มีบางอย่างที่ข้าพเจ้าเองก็พอรู้แต่เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ เรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่มีอายุ ความ ความจริงอาจปรากฏขึ้นแม้จะล่วงเลยเวลามาหลายร้อยปีก็ตาม" จากการได้ศึกษางานปรีดีอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ผมเห็นว่า สำนวนของปรีดีน่าจะมีลักษณะที่เป็นทางการกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อจะเขียนเรื่องสำคัญระดับนี้ (สำนวนในเอกสาร แม้จะใช้ "ข้าพเจ้า" แต่ - ดังที่เพิ่งยกตัวอย่าง - ให้ความรู้สึกของการเขียนในเชิงความเรียงแบบวรรณกรรม [literary] มากกว่า)

แต่ที่เป็นปัญหามากคือ เนื้อหาของเอกสารส่วนที่เป็นคำบอกเล่าของชิตต่อเผ่า ถ้าชิตเล่าความลับกรณีสวรรคตให้เผ่าฟังก่อนตายจริง ก็คงเป็นการเล่าด้วยปากสองต่อสอง ไม่น่าจะมีคนอื่นอยู่ด้วย แต่สำนวนในเอกสารกลับเป็นในลักษณะ เหมือนการให้ปากคำให้พนักงานจด เช่น ใช้คำว่า "ข้าฯ" โดยตลอด ต่อให้เผ่าเป็นคนฟังคนเดียวแล้วจดคำบอกเล่านั้นเอง ก็ยังไม่น่าจะเป็นสำนวนแบบนี้ (หรือถ้าเผ่าฟังแล้วจำเอา แล้วมาพิมพ์เป็นบันทึกทีหลัง เผ่าก็ไม่น่าจะพิมพ์บันทึกด้วยสำนวนคำให้การ "ข้าฯ") ที่สำคัญ ถ้ามีการบันทึกในลักษณะคำให้การแบบนี้ แล้วปรีดีได้รับมา ทำไมปรีดีไม่ระบุไปเลยว่ามีเอกสารคำให้การซึ่งเขาได้คัดลอกมา? และถ้าเป็นการคัดลอกเอกสารคำให้การจริง ทำไมบางช่วง "ปรีดี" จึงกลับไปใช้สรรพนามบุรุษที่สามกับชิตอีก (ดูหน้า 2 ย่อหน้าที่ 2 "นายชิตเล่าต่อไปว่า ...") ทำไมไม่คัดลอกมาทั้งหมด (ซึ่งก้อจะออกมาในรูปสรรพนามบุรุษที่ 1 "ข้าฯ" ตลอด)? ถ้าไม่มีเอกสารบันทึก แต่เป็นการบอกเล่าต่อๆกันมาถึงปรีดี ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่ปรีดีจะทำเอกสารเล่าเรื่องที่ได้ยินมาด้วยสำนวนเช่นนี้เลย

เนื้อหาส่วนที่ผมเซนเซอร์ไปนั้น บางตอนก็ดูไม่น่าจะเป็นความจริง (แต่ผมขออภัยที่ไม่สามารถอธิบายในที่นี้) แต่ที่สำคัญที่สุดในแง่ของเนื้อหาที่ทำให้เอกสารฉบับนี้ขาดลักษณะเป็นเอกสารจริง (authentic) คือ ตอนแรกสุดที่เป็นการเล่าของ "ชิต" เกี่ยวกับการเข้าเวรของเขานั้น ผิดความจริงอย่างสำคัญมากๆ นั่นคือ เวรประจำห้องบรรทมของวันที่ 8 ซึ่งต่อเนื่องไปถึงเช้าวันที่ 9 นั้น เป็นของบุศย์ ไม่ใช่ของชิต (ชิตไปนั่งอยู่ที่นั่นด้วยในเช้าวันที่ 9 ทั้งที่ไมใช่เวรของตน) แต่เอกสารเขียนว่า
โดยปกติ ข้าฯ(นายชิต) นายบุศย์ จะเข้าเวรสลับกันวันเว้นวัน และเป็นที่ทราบกันเองว่าอีกคนหนึ่งจะกลับได้ก็ต่อเมื่อ อีกคนหนึ่งมาถึงแล้วเท่านั้น โดยวันที่ 8 มิถุนายน 2489 เป็นเวรของข้าฯ แต่จริงๆแล้ววันนั้นเป็นเวรของนายบุศย์ แต่ข้าฯได้ขอแลกเวรกับนายบุศย์ เพื่อไปทำธุระกับคุณชูเชื้อ เมื่อช่วงต้นเดือน ทำให้วันที่ 8 มิถุนายน 2489 ตารางเวรจึงตกเป็นของข้าฯ
นั่นคือ ตามเอกสารนี้ ชิตเป็นเวรประจำวันที่ 8-9 มิถุนายน แม้จะเป็นเวรที่ "แลก" มากับบุศย์ก็ตาม

แต่ความเป็นจริงคือ ตารางเวรในขณะที่เกิดการสวรรคตนั้นเป็นของบุศย์ (และเท่าที่ผมทราบ ไม่มีการแลกเวรกัน แต่แลกมาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็น) ดังที่ชิต ได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนในคำให้การต่อ "ศาลกลางเมือง" เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2489 ดังนี้
นายบุศย์กับพยานเป็นมหาดเล็กห้องบรรทมในหลวงในพระบรมโกศ. . .พยานกับนายบุศย์อยู่กันคนละเวร เวรละ 24 ชั่วโมง คือเช้าวันนี้ ตั้งแต่ 11.00 น. เช้าวันนี้ ออก 11.00 น. เช้าวันรุ่งขึ้น. . .เวรวันที่ 8 คือตั้งแต่ 11.00 น. จนถึงวันที่ 9 เวลา 11.00 น.เป็นเวรของนายบุศย์ เมื่อวันที่ 9 พยานจะไปเอาหีบมาทำพระตรา พยานไม่ได้ช่วยนายบุศย์ทำงานอะไร ที่อยู่ก็เพื่อรอเอาหีบพระตราไปทำ (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8, มูลนิธิเด็ก 2547, หน้า 70)
ประเด็นนี้มีความสำคัญมากต่อการตัดสินคดีสวรรคตด้วย เพราะเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่โจกท์กล่าวหาชิต และศาลตัดสินประหารชิตเป็นคนแรกและคนเดียวในตอนแรก (ศาลชั้นต้นประหารชิตคนเดียว, ศาลอุทธรณ์เพิ่มประหารบุศย์, ศาลฎีกาเพิ่มประหารเฉลียว) ก็อาศัยเรื่องนี้นั่นเองมาอ้างว่า ชิตไม่ใช่เวรในเช้าวันที่ 9 แต่กลับไปปรากฎตัวอยู่ที่นั่น ทำให้ชวนสงสัย ("การที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไปนั่งอยู่หน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์โดยไม่ใช่เป็นเวรของตนนั้น ตามธรรมดาก็ส่อพิรุธอยู่ว่าจะได้ร่วมรู้เห็นเป็นผู้ร้ายด้วยกระมัง" คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ใน คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8, กรุงสยามการพิมพ์ 2523, หน้า 330) เรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ชิตจะจำผิด แม้แต่ปรีดี ถ้าเป็นผู้ทำเอกสารนี้จริง ก็คงต้องรู้ความจริงเรื่องเวรของใครนี้

2

ทีนี้ มาถึงจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของปรีดี ที่เพิ่งเผยแพร่ ซึ่งมีหน้าตาดังนี้ (เฉพาะส่วนที่ขีดดำ คือการเซนเซอร์ของผม ส่วนอื่นๆ เป็นไปตามฉบับที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์)


ที่ผมกล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่า "จดหมายปรีดี" นี้มีลักษณะ "เหมือนจริง" มากก็เพราะ ก่อนอื่นที่สุด แบบตัวอักษรเป็นแบบตัวอักษรของพิมพ์ดีดไฟฟ้าไอบีเอ็ม ชนิดเดียวกับที่ปรีดีใช้ในขณะนั้นจริงๆ ขอให้ดูเปรียบเทียบกับจดหมายที่ปรีดีเขียนถึงนิตยสาร ตะวันใหม่ ในปี 2523 ดังนี้


ในแง่ลักษณะภายนอกด้านอื่นๆ จะเห็นว่าเอกสารถูกฉีกขาดบางส่วนคือ ด้านหัวกระดาษ, บริเวณมุมล่างด้านซ้าย และจุดเล็กๆราวกลางหน้ากระดาษ ซึ่งผมเดาว่าทั้ง 3 จุดที่ถูกฉีกขาดไปคือชื่อบุคคลทั้งผู้รับ และบางบุคคลที่มีการระบุในเนื้อความ (มุมล่างด้านซ้าย อาจจะเป็นลายมือของผู้รับ ลงวันที่รับเอกสาร หรือความเห็น ในลักษณะเดียวกับที่นิยมทำในหมู่คนที่เป็นข้าราชการก็ได้) แม้การพยายามปกปิดชื่อบุคคลในลักษณะฉีกขาดทำลายเอกสารสำคัญเช่นนี้ อาจจะดูแปลกสักหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ ไม่มีคำอธิบายจากผู้เผยแพร่ว่า ใครเป็นผู้ฉีก เขาเองหรือ "ลูกชายชาวฝรั่งเศสของอดีตลูกศิษย์ปรีดี" ถ้าเอกสารนี้เป็นเอกสารจริง ผมอยากจะเดาว่า น่าจะเป็นคนหลังมากกว่า เพราะคนแรกน่าจะสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เซนเซอร์ชื่อบุคคลออกได้ไม่ยาก (ดังที่ผมเซนเซอร์บางข้อความด้วยขีดสีดำหนานี้) แต่คนหลังอาจจะต้องการปกปิดชื่อพ่อของเขา (หัวกระดาษและมุมล่างซ้าย) และชื่อบุคคลบางคนในเนื้อความ (กลางกระดาษ - ปรีดี?) ไม่ให้มีโอกาสปรากฏเลย จึงใช้วิธีฉีกออกตั้งแต่ก่อนส่งมอบเอกสารให้

การฉีกหัวจดหมายออก ทำให้วันที่ของจดหมายหายไปด้วย เหลือแต่ "ยน 2525" ถ้านี่เป็นจดหมายจริง แสดงว่า ปรีดีเขียนในเดือนใดเดือนหนึ่งคือ เมษายน, มิถุนายน, กันยายน หรือ พฤศจิกายน ปี 2525 นั่นคือ ภายในเพียง 1 ปีก่อนเขาจะถึงแก่กรรม

สิ่งที่ทำให้เอกสารนี้ ดู "สมจริง" ในทัศนะของผม ก็คือเนื้อหาหรือข้อความที่เป็นใจกลางของเอกสาร ซึ่งไม่ยาวนัก ดังนี้
ผมได้รับการติดต่อ และได้รับข้อมูลบางอย่างจากคนสนิทของท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงที่ผมลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน รายละเอียดคือ

"วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ก่อนที่จะมีการประหาร [ชีวิต? - สมศักดิ์] ของผู้ถูกประหารทั้งสาม คุณชิต สิงหเสนี ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ฟังว่าวันเกิดเหตุ กระผมหมายถึงคุณชิต สิงหเสนี นั่งอยู่ที่ทางเข้าห้องพระบรรทม ในช่วงเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พร้อมกับนายบุศย์ ปัทมศริน กระผมเห็น [เซนเซอร์ - สมศักดิ์] ก่อนที่จะมีเสียงปืนลั่น ประมาณไม่เกินสิบนาที หลังจากนั้นกระผมวิ่งเข้าไปในห้องพระบรรทม เห็น [เซนเซอร์ - สมศักดิ์] หลังจากนั้นกระผมได้วิ่งออกไปจากห้องพระบรรทม และกระผมก็ได้เล่าให้ [กระดาษถูกฉีกขาด - สมศักดิ์] [เซนเซอร์ - สมศักดิ์]"
ข้อความนี้มีความ "สมจริง" ไม่เพียงแต่เพราะมีความยาวพอเหมาะ คือ ชิตคงไม่สามารถเล่าอะไรได้มากกว่านี้และถ้ามีการบันทึกและถ่ายทอดผ่านมาถึงปรีดีก็จะไม่ยาวไปกว่านี้ (เอกสารฉบับที่ผมนำมาเล่าข้างต้น "พยายานมมากเกินไป" เล่าเรื่องต่างๆยาวเกินจริงและเรื่องที่เล่าก็ไม่สมจริงนัก) แต่ที่สำคัญ ผมมักจะจินตนาการ บนพื้นฐานของการศึกษากรณีสวรรคตอย่างเข้มข้นมานาน ว่า หากชิตเล่าความลับบางอย่างให้เผ่าฟังจริง (ซึ่งผมคิดว่าจริง) เนื้อหาหรือข้อความที่เขาเล่า จะมีลักษณะแบบเดียวกับที่ปรากฏในเอกสารนี้ ไม่มากไม่น้อยกว่านี้

ผมควรกล่าวด้วยว่า ในแง่เนื้อความของเอกสาร มีจุดเล็กๆ 2 จุด ที่อ่านแล้วไม่สู้จะรู้เรื่อง (make sense) นัก คือบรรทัดก่อนสุดท้ายของย่อหน้าแรก " และเห็นว่าเพื่อช่วยให้ความเข้าใจของผมแจ่มแจ้งขึ้น" และ บรรทัดก่อนสุดท้ายของย่อหน้าสุดท้าย "ผมขอให้ท่าน [ผู้รับจดหมาย? - สมศักดิ์] ช่วยให้ความชัดเจนกับเรื่องที่เกิดขึ้น" ทั้ง 2 วรรคนี้ เหมือนกับว่า "ปรีดี" หรือผู้ทำเอกสารในชื่อปรีดี จะเขียนไม่ครบ ตกหล่นไม่ต่อเนื่องกับส่วนอื่นของประโยคและย่อหน้า? แน่นอน ไม่ใช่ว่า ถ้าจดหมายนี้ ปรีดีเขียนเองจริง จะเป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่มีข้อความตกหล่น ไม่ชัดเจนในลักษณะนี้ เช่น สมมุติว่า ถ้าจดหมายนี้เขียนในเดือนพฤศจิกายน 2525 ไม่กี่เดือนก่อนถึงแก่กรรม ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พลังของเขาได้ลดลงไปมาก ไม่เต็มที่?

ในที่สุดแล้ว ถ้าผู้เผยแพร่ "จดหมายปรีดี" ฉบับนี้ และโดยเฉพาะ "ลูกชายของอดีตลูกศิษย์ปรีดี" ที่เป็นเจ้าของเอกสารอยู่เดิมหลายปี (ตามการบอกเล่าของผู้เผยแพร่) จะได้ออกมาอธิบายความเป็นมาและยืนยันความเป็นเอกสารแท้จริง (authentic document) ของจดหมายฉบับนี้ ก็จะเป็นคุณูปการอย่างมากให้กับการศึกษากรณีสวรรคตและประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่โดยรวม

Saturday, August 1, 2009

พระราชินีโปรดเกล้าฯให้ สันติ ลุนเผ่ ร้องเพลงปลุกใจสมัยก่อน ให้ทรงฟังทุกสัปดาห์


เมื่อไม่กี่เดือนก่อน (26 มีนาคม 2009) นิตยสาร The Magazine ที่แถมฟรีให้สมาชิก Bangkok Post ทุก 2 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี มีเรื่องน่าสนใจ ในคอลัมภ์ประจำ the profile ภายใต้ชื่อเรื่อง "ชีวิตของ สันติ ลุนเผ่" (The Life of Santi Lunpei) โดยได้เล่าประวัติชีวิตและสัมภาษณ์นักร้องเพลงปลุกใจชื่อดัง ในย่อหน้าสุดท้ายมีข้อความที่น่าสนใจ ดังนี้
Santi has continued to be active in music. He recently recorded 60 Luk Krung (pop) songs, waiting to be released, and he sang a duet with Pod Modern Dog. Santi's song Rak Poh (Love Dad) is also popular at the moment. His most cherished ongoing activity, however, occurs every Saturday evening when he sings the old patriotic songs for Her Majesty the Queen. "She wants to preserve these songs, I think. Otherwise they will disappear forever. And that would be a shame because they're a part of Thai history."
ผมไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน อยากรู้ว่า ในการร้องเพลงปลุกใจเก่าๆถวายแต่ละเสาร์นั้น มีการอัดเทปหรือวีดีโอไว้หรือไม่

ภาพหน้าปกและรายงานเรื่องสันติ ลุนเผ่ ใน The Magazine, issue 136, 26 March 2009