Saturday, January 9, 2010

"เธอ" ผู้เป็น "ที่พึ่งของนักปราชญ์"



เวลาผมอ่านหนังสือหรือแม้แต่แค่หยิบขึ้นมาพลิกๆดู ผมจะดูพวกคำขอบคุณและคำอุทิศของผู้เขียนเสมอ ผมรู้สึกมันน่าสนใจดี โดยเฉพาะหนังสือฝรั่ง มีหลายเล่มที่เขียนคำอุทิศได้ประทับใจมาก แม้เราจะไม่รู้จักคนที่เขาอุทิศให้เลยก็ตาม

หนังสือไทยไม่ค่อยนิยมทำคำอุทิศเท่าไรนัก ในขณะที่ผมจำคำอุทิศที่ประทับในหนังสือของฝรั่งได้หลายเล่ม ผมนึกถึงคำอุทิศในหนังสือไทยที่ผมชอบไม่ค่อยได้ ยกเว้นเพียง 1-2 กรณีเท่านั้น เช่นกรณีคำอุทิศของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ขอโทษปรีดี (ผมยังจำความรู้สึกที่เห็นครั้งแรก เมื่อเปิดพลิกๆดูหนังสือเล่มนั้น ที่แผงหนังสือหน้าประตูธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ได้ดี)

แต่คำอุทิศหนังสือไทยที่ผมชอบมากๆ เป็นของสุวินัย ภรณวลัย ในหนังสือของเขา 2 เล่ม เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว . . .

ในช่วงทศวรรษ 2520 สุวินัย ได้ตีพิมพ์งานหลายชิ้นเกี่ยวกับมาร์กซิสม์ โดยเฉพาะงานเป็น "ชุด" (series) ที่ชื่อ "ประวัติศาสตร์ขบวนการความคิดสังคมนิยมโดยสังเขป" ที่เขาวางแผนว่า จะเขียนเล่าความเป็นไปของมาร์กซิสม์ตั้งแต่สมัยมาร์กซ มาถึงสมัยองค์การสากลที่สอง, สมัยของเลนิน โรซ่า ลุกเซมเบอร์ก ทร็อตสกี้ และกรัมชี่ เรียงลำดับมาจนถึงปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ซึ่งในทัศนะของผม ยังเป็นงานเกี่ยวกับประวัติมาร์กซิสม์ที่ดีที่สุดในภาษาไทยแม้จนทุกวันนี้ แต่เสียดายว่า สุวินัยเขียนไปได้ถึงเพียง ลุกเซมเบร์กและเลนิน ก็หยุดเขียน เพราะเขาเลิกเป็นมาร์กซิสต์เสียก่อน!

ในระหว่างนั้น นอกจากงานชุดประวัติศาสตร์มาร์กซิสม์นี้แล้ว สุวินัยยังเขียนงานชิ้นอื่นๆเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ความเป็นไปของขบวนการฝ่ายซ้ายอีก 2-3 เรื่อง เช่น เมื่อเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ของขบวนการโซลิดาริตี้ในโปแลนด์ และเมื่อเกิด "วิกฤติศรัทธา" ที่ปัญญาชนไทยไม่เพียงแต่ละทิ้ง พคท. แต่พากันละทิ้งมาร์กซิสม์ด้วย

ปี 2525 สุวินัยตึพิมพ์หนังสือป๊อกเก็ตบุ๊คเล็กๆเล่มหนึ่งชื่อ "ความอับจนของลัทธิมาร์กซ หรือ ความอับจนของลัทธิเหมา" เพื่อตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะตอบโต้ต่อการตีพิมพ์หนังสือของ ปรีดี บุญซื่อ ที่ชื่อ "ความอับจนของลัทธิมาร์กซ" ซึ่งปรีดี เขียนหลังออกจากป่า และปฏิเสธไม่เพียงแต่ พคท. แต่ปฏิเสธมาร์กซด้วย (ปรีดีอาศัยแนวคิดของ โคลาโควสกี้ [Leszek Kolakowski] เป็นหลัก) แน่นอน การที่อีกไม่กี่ปีต่อมา สุวินัยเองจะยอมรับใน "ความอับจน" ของมาร์กซ เสียเอง และออกจากมาร์กซิสม์ เป็นเรื่องชวนเศร้า (irony) อย่างหนึ่ง

ในหนังสือเล่มนี้ สุวินัย ได้เขียนคำอุทิศ ซึ่งกินพื้นที่เกือบเต็มหน้าเล็กๆของหนังสือ (ตามคำนำ เขาเขียนงานนี้ในเดือนสิงหาคม 2524) ดังนี้

คำอุทิศ
แด่ "ที่พึ่งของนักปราชญ์"

ถ้าใครสักคนจะผลิตงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แค่การมี Ambition (ความทะเยอทะยาน) เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่มันจะต้องมี Aspiration (ความมุ่งมาดปรารถนา) อยู่ด้วย เพราะใน Ambition ไม่มี สิ่งที่ Aspiration มี สิ่งนั้นคือ ความงามในหัวใจ หรือความงามในจิตใจ และเพราะการมี "ความงามในหัวใจ" นี่เอง ที่ทำให้ Ambition จึงได้กลายเป็น Aspiration ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เฮเกล (Hegel) เรียกว่า Passion (ความเร่าร้อน) "เธอ" ผู้เป็น "ที่พึ่งของนักปราชญ์" ก็คือผู้ที่ทำให้ความงามในทางจิตใจเกิดขึ้นในหัวใจของชายหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้สำหรับการผลิตงานที่สร้างสรรค์.

อีกไม่กี่เดือนต่อมา สุวินัยตีพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ "มรดกทางความคิดของสหภาพแรงงานโซลิดาริตี้" (สุวินัย ลงวันที่เขียน 6 เมษายน 1982[2525] ที่เกียวโต ฤดูใบไม้ผลิ) ในหน้าคำอุทิศของหนังสือเล่มนี้ มีข้อความที่เกือบจะเหมือนกับหนังสือข้างต้นทุกประการยกเว้นบรรทัดแรกสุดที่เพิ่มคำว่า "ผู้เคยเป็น" เข้ามา ดังนี้

คำอุทิศ
แด่ ผู้เคยเป็น "ที่พึ่งของนักปราชญ์"


ถ้าใครสักคนจะผลิตงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แค่การมี Ambition (ความทะเยอทะยาน) เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่มันจะต้องมี Aspiration (ความมุ่งมาดปรารถนา) อยู่ด้วย เพราะใน Ambition ไม่มี สิ่งที่ Aspiration มี สิ่งนั้นคือ ความงามในหัวใจ หรือความงามในจิตใจ และเพราะการมี "ความงามในหัวใจ" นี่เอง ที่ทำให้ Ambition จึงได้กลายเป็น Aspiration ซึ่งสิ่งนี้แหละที่เฮเกล (Hegel) เรียกว่า Passion (ความเร่าร้อน) "เธอ" ผู้เป็น "ที่พึ่งของนักปราชญ์" ก็คือผู้ที่ทำให้ความงามในทางจิตใจเกิดขึ้นในหัวใจของชายหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้สำหรับการผลิตงานที่สร้างสรรค์.

ผมประทับใจคำอุทิศของหนังสือ 2 เล่มนี้มาก วันหนึ่ง ผมเจอสุวินัย ก็เลยถามความหมายจากเขาว่า พอจะบอกได้หรือไม่ สุวินัยเป็นคนที่มีนิสัยดีอย่างหนึ่ง อย่างน้อยในสมัยนั้น (ผมไม่สนิทกับเขาในขณะนี้พอจะพูดได้) คือ ซื่อๆตรงๆ ไม่มีลักษณะลับลมคมใน เขาก็บอกผมตรงๆว่า คำอุทิศดังกล่าวเขียนให้กับคนรักของเขา ชื่อของเธอ แปลเป็นภาษาไทยว่า "ที่พึ่งของนักปราชญ์" ส่วนที่มีความแตกต่าง จาก "ที่พึ่งของนักปราชญ์" มาเป็น "ผู้เคยเป็น ที่พึ่งของนักปราชญ์" นั้น ก็เพราะตอนที่เขียนเล่มหลัง ทั้งคู่เลิกเป็นคนรักกันแล้ว ผมไม่ได้ถามอะไรต่อ เพราะไม่ได้สนใจเรื่องที่เป็นส่วนตัวของเขามากไปกว่านั้น ได้แต่เก็บความประทับใจในคำอุทิศของหนังสือ 2 เล่มของสุวินัยนี มาจนทุกวันนี้

9 มกราคม 2553


No comments: