Tuesday, April 12, 2011

ครบรอบ 5 ปี วิกฤติประเทศไทยปัจจุบัน ประเด็นใจกลางตั้งแต่ต้นจนทุกวันนี้ ไม่เคยเปลี่ยน : จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 9 สิงหาคม 2553)



ต้นเดือนกันยายน 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ "เปิดตัว" หนังสือ "พระราชอำนาจ" โดย ประมวล รุจนเสรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่มีบท "อาเศียรวาท" (เพิ่มขึ้นมาจากการพิมพ์ครั้งแรก) ที่อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ (ที่ทรงรับสั่งให้ ปีย์ มาลากุล นำมาให้ประมวล) ว่า "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก" - ผมเสนอว่า เราอาจถือเอาเหตุการณ์นี้ เป็น "จุดเริ่มต้น" ของวิกฤตประเทศไทยปัจจุบัน * นี่เป็นวิกฤต ที่มีความเข้มข้นแหลมคม รุนแรง และยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องไม่หยุด (และยังไม่ยุติ) ชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ปัญหาใจกลางของวิกฤตินี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นนี้ และไม่เคยเปลี่ยนเลยมาจนขณะนี้ อาจสรุปได้เป็นประโยคเดียวคือ

"จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?"

พูดอีกอย่างคือ จะให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะและอำนาจอย่างไร ตั้งแต่ประเด็นทางกฎหมาย-การเมือง ระดับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายย่อย ไปถึงประเด็นเชิงวัฒนธรรม จิตสำนึก ตั้งแต่เรื่ององคมนตรี ไปถึงตุลาการภิวัฒน์ (ที่มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสสาธารณะของกษัตริย์) ตั้งแต่ปัญหากองทัพ "ของพระราชา" ไปถึงประเด็น องค์กรรัฐใด ควรเป็นผู้ที่ set agenda (กำหนดวาระ) ของสังคมและทิศทางประเทศ (คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ พระมหากษัตริย์)

สิ่งที่เป็น irony ที่สุดของวิกฤตินี้ คือ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (อาจจะเรียกสั้นๆว่า "พวกเสื้อเหลือง" หรือ "พวกอำมาตย์" หรือคำที่หรูกว่าเช่น "ชนชั้นนำ" "ชนชั้นสูง" ฯลฯ แต่ควรเข้าใจว่า ฝ่ายดังกล่าวมีมากกว่า "ชนชั้นสูง" หรือ "ชนชั้นนำ" หรือกระทั่ง "อำมาตย์" เพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่มีฐานกำลังใหญ่โตที่รวม "ชนชั้นกลาง" และ "ชนชั้นล่าง" จำนวนมากด้วย) - ในขณะที่ฝ่ายนี้เข้าใจ "โดยสัญชาติญาณ" (instinctively, intuitively) ตั้งแต่ต้นว่า นี่คือปัญหาใหญ่ใจกลางที่สุดของวิกฤตินี้ และได้อภิปราย โฆษณา โดยเอาเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ใจกลางมาตลอด - ดูตั้งแต่การ "เปิดตัว" หนังสือประมวลที่เป็นจุดเริ่มต้น จนถึงคำขวัญ "สู้เพื่อในหลวง" และการโปรโมต "เสื้อเหลือง" ของสนธิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบ "สู้ตามสีเสื้อ" มาถึงปัจจุบัน) การเรียกร้อง "นายกฯมาตรา 7" ของพันธมิตร, ข้ออ้างเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" จนถึง "แผนผัง ล้มเจ้า" ของ ศอฉ., ไม่นับการรณรงค์อีกนับไม่ถ้วนของบรรดา "เสื้อหลากสี", กลุ่มที่ชู "คุณธรรม" ต่างๆ ในจุฬา ไปถึงในวงการแพทย์ ฯลฯ

แต่ในทางตรงข้าม ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" ซึ่งย่อมหมายถึงการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (องคมนตรี ถึง ตุลาการ ถีง "ทหารของพระราชา" และอื่นๆ) ตั้งแต่ ตัวทักษิณ ถึง แกนนำ นปช. ถึงบรรดานักวิชาการ นักเขียน นัก นสพ. และแอ๊คติวิสต์ ต่างๆ (ถ้าจะเรียกด้วยคำรวมๆ ปัจจุบันว่า ฝ่าย "เสื้อแดง" ก็ได้ แต่ควรเข้าใจว่า แม้แต่การปรากฏของ "จิตสำนึก" แบบ "เสื้อแดง" - การเมืองวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณะของการเลือกสี ที่ไมใช่สีเหลือง - ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤติดำเนินไปแล้วกว่า 3 ปี คือหลังกรณี 7 ตุลาคม 2551) - ฝ่ายนี้ กลับเป็นฝ่ายที่ช้า ตั้งแต่ในการทำความเข้าใจว่าประเด็นนี้แหละคือประเด็นใจกลางของความขัดแย้ง (คนจำนวนมากในฝ่ายนี้ ใช้เวลา 2-3 ปีของช่วงวิกฤติ กว่าจะ "ตาสว่าง" - คำนี้ สะท้อนลักษณะการเข้าใจที่้้ช้าดังกล่าวได้ชัดเจน)

และที่สำคัญที่สุด จนถึงวินาทีนี้ ฝ่ายนี้ (เรียกได้ว่า) ทั้งหมด ยังไม่เห็นความจำเป็นทีจะ นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างตรงๆ เป็นระบบ นี่เป็นความจริงของฝ่ายนี้ ตั้งแต่ส่วนที่เป็น "ปีกขวา" เช่น ทักษิณ-จตุพร-แกนนำ นปช. ("ปีกขวา" นี้ รวม "อดีตซ้าย" ไว้หลายคน ตั้งแต่จรัล, เหวง, ธิดา คนเหล่านี้ โดยส่วนตัวอาจจะถือเป็น "ปีกซ้าย" หรืออย่างน้อย "ปีกกลาง" ของขบวน แต่ในแง่เป็นองค์รวม ต้องจัดว่า อยู่ใน "ปีกขวา" ของขบวน) ไปถึง "ปีกกลาง" เช่น นักการเมืองอย่างจาตุรนต์ ไปถึง "ปีกซ้าย" อย่าง จักรภพ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน ถึงนักวิชาการซ้ายอย่าง พิชิต สุธาชัย (กรณีหลังมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง) ไม่ต้องพูดถึงบรรดานัก นสพ. (มติชน ฯลฯ) และนักวิชาการที่ในระยะหลังหันมาให้ความเห็นอกเห็นใจสนับสนุนเสื้อแดง อย่างกลุ่ม "สันติประชาธรรม" ฯลฯ

เรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นว่า เป็นความผิดพลาดสำคัญ ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อจำกัดเชิงกฎหมายเท่านั้น (เช่นการมี ม.112 ในประมวลอาญา) เพราะอันที่จริง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ข้ออ้างหรือเหตุผลของการไม่ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับประเด็นสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ของฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนใหญ่จริงๆ ไมใช่เรื่องทางกฎหมาย (ทางกฎหมาย แม้จะมีข้อจำกัดอย่างไร ก็ยังทำได้แน่นอน - ดูบทความที่กำลังอ่านนี้เป็นตัวอย่าง ถ้านึกไม่ออก) แต่เป็นเรื่องที่อาจจะเรียกว่าในทาง "วัฒนธรรม" นั่นคือข้ออ้างหรือเหตุผลประเภท "คนส่วนใหญ่ยังรับไม่ได้" "เดี๋ยวจะถูกโจมตีว่าล้มเจ้า" ฯลฯ อะไรทำนองนี้

นี่เป็นเรื่อง"ตลก" ที่หัวเราะไม่ออก เพราะความจริงคือ ขณะที่ไม่มีการ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" อย่างเป็น"ทางการ" ในหมู่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ก็มีลักษณะของการ "อภิปราย" หรือ "แสดงออก" ในเชิงสัญลักษณ์ ในเชิงภาษาแบบ metaphors (อุปลักษณ์) และอื่นๆ อย่างแพร่หลายนับไม่ถ้วน (และยิ่งนานยิ่งขยายออกไป) ตั้งแต่เรื่อง "คุณซาบซึ้ง" ไปถึงเรื่อง "เพชร" เรื่อง "รูปๆ บ้านๆ" ไปถึงเรื่อง "นิยาย ยายไฮ" ถึงเรื่องอีกสารพัดอย่าง (ล่าสุดเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ "การทำธุรกรรม" บางอย่าง)

และนี่เป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง (คือพวก "เสื้อเหลือง" ที่เอ่ยถึงก่อนหน้านี้) จะรู้ดี แต่แม้แต่สังคมวงกว้าง ก็รู้กันดีหมดแล้ว ว่ามีการแสดงออก ในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ในหมู่ "ชุมชน" ของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ มีใครที่ใช้อินเตอร์เน็ต แล้วไม่เคยเห็น ไม่เคยผ่านตา บรรดา metaphors ต่างๆ ที่ผมเอ่ยถึงในย่อหน้าก่อนบ้าง? หรือต่อให้ไม่เคยเห็น ป่านนี้ มีใคร ไม่รู้ข่าวกรณี "สาว DHL" "ก้านธูป" หรือ "มาร์ค วี11" บ้าง?

ส่วนข้อที่อ้างว่า "ถ้าพูดจะทำให้ถูกกล่าวหาว่าคิดล้มเจ้า" - ขอถามว่า แล้วที่ผ่านมา การไม่ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ไม่ถูกกลาวหาหรือ? ตั้งแต่กรณีสุเทพโจมตีทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี (ซึ่งศาลโอเคว่า ทำได้) ไปถึงกรณี แผนผัง ศอฉ. ถึงกรณีรายการ "เจาะข่าวร้อน" และบรรดาหนังสือ "เปิดโปงขบวนการล้มเจ้า" ต่างๆ

มีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่บางคนในหมู่ "เสื้อแดง" เสนออกมา คือ (ถ้ายืมคำที่มีการใช้กันตามเว็บบอร์ด) "ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกับปัญหานี้ดีกว่า" ข้อโต้แย้งของผมคือ ลำพัง "ธรรมชาติ" ไม่ว่าจะเข้า "แทรกแซง" อย่างไร ก็ไม่สามารถจัดการกับเรื่องทางโครงสร้างการเมือง- กฎหมาย และเรื่องทางวัฒนธรรม รูปการจิตสำนึกต่างๆ ได้ "ธรรมชาติ" อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จริง แต่ผมขอเสนอว่า ไม่สามารถทำให้เกิดผลกระทบในแง่ของความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง และระบอบจิตสำนึก (ideology) ได้ หากไม่มีการอภิปราย นำเสนอ ทางเลือกอื่น เข้ามาต่อสู้แข่งขันทางความคิดด้วยตั้งแต่บัดนี้

เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่าผมกำลังพยายามเสนออะไร ผมขอยกตัวอย่าง รูปแบบการนำเสนอ-อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบหนึ่ง ที่ผมขอเรียกรวมๆว่า "โมเดล นปช.USA" (ผมไม่ได้หมายความว่า มีแต่ที่เว็บไซต์ นปช.USA ที่ใช้รูปแบบนี้ ต้องขออภัยต่อเว็บดังกล่าวที่ "ยืม" ชื่อมาตั้งเป็นแบบอย่างอภิปรายเพื่อให้เห็นง่ายๆ ชัดเจน) "โมเดล" นี้ ความจริงเป็นคนละแบบกับเรื่องการใช้ metaphors ต่างๆ ที่เพิ่งพูดไป แต่ในหลายกรณี ก็มีลักษณะ "ซ้อนทับ" หรือ "เหลื่อม" กันอยู่ ชนิดที่แทบจะแยกกันไม่ออก (กรณี "นิยาย ยายไฮ" อาจจะเป็นตัวอย่างได้ดี) ผมไม่เคยเสนอ หรือสนับสนุน หรือทำเอง การอภิปรายตาม "โมเดล" นี้ ด้วยเหตุผลดังนี้

ในขณะที่ผมเห็นว่า ตามหลักการประชาธิปไตย การอภิปรายในลักษณะนี้ ควรจะไม่ผิด (เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาก็ย่อมเป็นสิทธิของคนฟัง) แต่ความจริงคือ นี่เป็นการอภิปรายที่เกินขอบเขตของกฎหมายในขณะนี้ และดังนั้น จึงมีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถทำให้เป็นเรื่อง "กระแสหลัก" (mainstream) ของชีวิตสาธารณะของสังคมได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ เกี่ยวพันถึงอนาคตของประเทศที่มีพลเมืองหลายสิบล้านคน ว่าเราต้องการการเมือง และสังคม หรือวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตแบบใด (เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่มีเพลงสรรเสริญฯก่อนฉายหนัง หรือ "ข่าวสองทุ่ม" ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างไร? เป็นต้น - นี่ยกตัวอย่างรูปธรรมสุดๆ ให้ดู) ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาได้ จะต้องผ่านการทำความเข้าใจ หรือกระทั่งยอมรับ-รับได้ของคนจำนวนมหาศาล ซึ่งคงไมใช่ด้วยการใช้โมเดล ที่ว่าเป็นแน่ แต่จะต้องด้วยการทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายที่สุดว่า หลักการและการปฏิบัติที่เป็นอยู่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งไม่ถูกต้องอย่างไร โดยทีการอภิปรายนี้ จะต้องทำให้เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องเปิดเผยให้มากที่สุดได้ ภายใต้ข้อจำกัดแน่นหนาของกฎหมายปัจจุบัน

ถึงเวลาหรือยัง? - ความจริง ผมเห็นว่า เกินเวลาไปนานแล้ว แต่เริ่มช้า ดีกว่าไม่เริ่ม - ที่จะมีการ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับประเด็นใจกลางของวิกฤติครั้งนี้ คือ "จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?" หรือ สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ควรเป็นเช่นไร ตามหลักการประชาธิปไตย จากในหมู่ "คนเสื้อแดง" หรือคนที่เห็นใจ "คนเสื้อแดง" ตั้งแต่ตัวทักษิณลงมา ถึงบรรดานักวิชาการ นัก นสพ. นักการเมือง ที่เห็นอกเห็นใจเสื้อแดงทั้งหลาย (พูดอย่าง realistic ผมคิดว่า ต้องเริ่มจาก 3 กลุ่มนี้ ในเวลาใกล้เคียงกัน หรือตามลำดับกัน คือ นักวิชาการ, สื่อมวลชน, นักการเมือง)

ผมขอเสนอว่า การทำให้การ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตามหลักการประชาธิปไตย ให้เป็นเรื่อง "กระแสหลัก" (mainstream) ของสังคมให้ได้ คือ ให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ตรงๆ ในวงวิชาการ ในที่สัมมนา ในทางสื่อมวลชน นสพ. ทีวี และในวงการนักการเมือง เป็นภาระสำคัญที่สุดของฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยต้องการการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

หากยังไม่มีการอภิปรายปัญหานี้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และจริงจัง และไม่หาทางแก้ปัญหานี้อย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ก็มีโอกาสอย่างยิ่งที่...

ประเทศไทยจะมุ่งหน้าไปสู่การปะทะครั้งใหม่ ที่จะมีความรุนแรง ชนิดที่ทำให้เหตุการณ์ทีราชประสงค์เมื่อเร็วๆนี้ กลายเป็นเรื่อง "งานเลี้ยงปิคนิค" ไปได้


เชิงอรรถ
* อันที่จริง สนธิ เริ่มโปรโมทหนังสือ "พระราชอำนาจ" ตั้่งแต่การพิมพ์ครั้งแรกในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2548 (ดูต้วอย่าง รายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ วันที่ 26 สิงหาคม 2548 ที่นี่ แต่ในวันที่ 6 กันยายน 2548 เขาและคณะได้ทำการ "เปิดตัว" หนังสือนี้อีกครั้งอย่างใหญ่โต ด้วยการจัดอภิปรายที่ธรรมศาสตร์ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน รายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ได้ถูกปิด (15 กันยายน) และสนธิได้เดินหน้าทำการรณณงค์เพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณอย่างเต็มตัว

สุวินัย ภรณวลัย เขียนถึงความสำคัญของ "พระราชอำนาจ" ในฐานะจุดเริ่มต้นของวิกฤติปัจจุบันว่า
มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ วิกฤตของระบอบทักษิณ ได้เริ่มต้นขึ้นจากหนังสือ "พระราชอำนาจ" ของ ประมวล รุจนเสรี ซึ่งเป็นปัญญาชนออแกนิกแนวจารีตนิยม ในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ในหนังสือเล่มนี้ประมวลได้อธิบายให้เห็นว่า การใช้พระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทรงมีอำนาจมากกว่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นอำนาจตามราชประเพณีนัยของหนังสือ "พระราชอำนาจ" เล่มของประมวล คือ การมุ่งโจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้ละเมิดพระราชอำนาจ

แต่ที่สำคัญก็คือ ประมวลได้อ้างด้วยว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยหนังสือเล่มนี้ ดังที่ได้มีพระราชกระแสกับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ให้มาแจ้งแก่ประมวลว่า "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง"

แต่จะว่าไปแล้ว หนังสือ "พระราชอำนาจ" ของประมวล รุจนเสรี เป็นแค่บทโหมโรงของวิกฤตระบอบทักษิณเท่านั้น .....





บันทึกต่อท้าย: ว่าด้วย ผม, ธงชัย กับการโต้ตอบสนธิ-ประมวล และ 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อกลุ่มสนธิ-ประมวล ออกหนังสือ "พระราชอำนาจ" มาเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทความสั้นๆชิ้นหนึ่งออกมาตอบโต้ในชื่อ "บทวิจารณ์หนังสือ พระราชอำนาจ" เขียนเสร็จ 31 สิงหาคม 2548 และนำออกเผยแพร่ทาง เว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน ประมาณวันที่ 1-3 กันยายน 2548 ผมขอบันทึกประเด็น"เล็กๆ"เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่สะท้อนความไปไปในหมู่วงการปัญญาชนนักวิชาการไทย ในขณะเริ่มต้นวิกฤติเล็กน้อย (และมีลักษณะ "ส่วนตัว" ในเชิงที่เกี่ยวกับประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของผมอยู่ไม่น้อย)

ในขณะนั้น มีเพียงผม และ ธงชัย วินิจจะกูล เพียง 2 คน (เท่าที่ผมทราบหรือสำรวจได้) ที่ออกมาเขียนตอบโต้การเริ่มรณรงค์ของสนธิ-ประมวล ในเวลาที่เรียกได้ว่าพร้อมๆกัน (ไม่ได้นัดหมาย ไม่ได้ติดต่อกัน) ข้อเขียนของธงชัย Same Old Royalism Hatches Again เผยแพร่ครั้งแรก ที่ ม.เที่ยงคืน วันที่ 10 กันยายน 2548 ต่อมา ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ได้นำข้อเขียนทั้ง 2 นี้ ไปตีพิมพ์รวมอยู่ใน October No.5 ในหนังสือนั้น ภิญโญ ใส่วันที่เผยแพร่ครั้งแรกของข้อเขียนทั้งคู่เป็นวันเดียวกัน คือ 10 กันยายน 2548

ผมไม่ทราบธงชัยมองเรื่องนี้ในขณะนั้นอย่างไร เพราะไม่เคยติดต่อกันดังกล่าว แต่ผมพยายามถามไถ่คนที่พอรู้เรื่องแวดวงวิชาการบ้างว่า จะมีใครเขียนออกมาโต้การเปิดฉากรณรงค์ของกลุ่มสนธิหรือไม่ โดยเฉพาะ ผมหวังว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ซึ่งอิทธิพลทางความคิดในหมู่ปัญญาชนเมือ่ 5 ปีที่แล้ว ยิ่งสูงกว่าปัจจุบันหลายเท่า) จะได้ออกมาโต้ แต่ปรากฏว่า มีแต่ความเงียบในเรื่องนี้จากนิธิ (หรือนักวิชาการชื่อดังทุกคนที่ผมรู้จักหรือสำรวจได้ตอนนั้น) ผมได้รับการบอกเล่าว่า นิธิ ให้เหตุผล บอกบางคนที่ถามเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน - ผมไม่ขอเล่าซ้ำว่าเหตุผลที่นิธิให้คืออะไร เพราะเป็นเพียงการเล่ามาแบบส่วนตัวและปากต่อปาก บอกได้แต่เพียงว่า ถ้าจริง ก็แย่มากๆ และไม่เข้าท่ามากๆ (ตอนนั้น ผมอาจจะผิดหวัง หรือเซอร์ไพรส์ไม่น้อย แต่หลังจาก 5 ปีผ่านไป กลายเป็นเรื่องที่ความจริง มองย้อนหลังแล้ว น่าจะคาดไว้ได้อยู่เหมือนกันตั้งแต่ตอนนั้น)

สำหรับธงชัย นั้น กรณีนี้ ขอบอกตรงๆ แบบความรู้สึกในเชิง "ส่วนตัว" ว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้น ของความรู้สึกขัดแย้งผสมผสานที่ผมรู้สึกต่อเขาในระยะ 5 ปีของวิกฤติ นับจากนั้น มาจนบัดนี้ คือ ด้านหนึ่ง รู้สึก deeply honored / proud ว่า "ไม่เสียแรง / ไม่เสียเปล่า / ไม่ผิดหวัง" ที่เราผ่านอะไรต่ออะไรมาด้วยกันหลายอย่าง โดยเฉพาะในเช้าวันพุธนั้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จริงๆไม่เฉพาะกรณีหนังสือประมวล แต่รวมถึงย้อนหลังไปก่อนหน้านั้น หลายปี ในขณะที่ปัญญาชนไทยพร้อมใจกัน"เงียบ" กับเรื่องนี้ และบางครั้ง ผมรู้สึกเหมือนคนบ้าอยู่คนเดียวที่พูด-เขียนเรื่องนี้ ผมก็ยังรู้สึกได้ว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และเป็นสิ่งที่ผมมีความรู้สึกภูมิใจอย่างลึกซึ้งมาก ว่า ยังมีธงชัยอีกคน ที่ไม่ยอม compromise ไม่ยอม reconciliation with the monarchy (คำที่ผมใช้บรรยายภาวะของปัญญาชนไทยร่วมสมัย) เหมือนกัน (ผมคุยเรื่องนี้กับ ปุ๊ ธนาพล อิ๋วสกุล หลายครั้งอยู่ในตอนนั้น) ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในความเห็นเรื่องต่างๆระหว่างเราอย่างไร ผมก็ถือเป็นความสำคัญมากและเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งมากในส่วนของผมว่า มีเรื่องนี้ (ที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด) ที่ยัง unites us (เช่นเดียวกับ ความรู้สึกที่บรรยายไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์วันพุธเมื่อ 30 กว่าปีก่อน)

แต่ขณะที่กรณีโต้หนังสือประมวลเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกแบบนี้ ท่าทีของธงชัยที่ตามมาในช่วง 5 ปีนี้ ไล่มาจนถึงล่าสุด การอภิปรายเรื่อง "ฝุ่นตลบ" ที่เชียงใหม่ ของเขาไม่กี่วันก่อน (ซึ่งผมเขียนบทความแบบ"ไม่จบ"ไว้เรื่องหนึ่งเหมือนกันชื่อ "ภาวะฝุ่นตลบในใจ ของธงชัย วินิจจะกูล") ก็ทำให้ผม deeply disappointed เช่นกัน ว่าเขาน่าจะพูดบางอย่าง แต่ไม่ยอมพูด he should have said certain things, but he didn't ซึ่งหากเขาพูดออกไป อาจจะ make different ได้ (เพราะเขามีเครดิตในหมู่ปัญญาชนมากกว่าผม พูดง่ายๆคือ คนอื่นๆ "ฟัง" เขามากกว่าจะที่จะยอมฟังผม) โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติปี 2549 ในความเห็นของผม, ปัญหาของธงชัยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถ้าจะสรุปแบบ "ฟันธง"[!] สั้นๆ คือ แคร์มากเกินไปว่า คนฟังจะคิดอย่างไรกับที่เขาพูด (ที่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันคือ แคร์มากเกินไปกับ respect/popularity จากคนฟัง) เขาไม่พูดอะไรทีคนฟังไม่ได้มีแนวโน้มจะยอมรับอยู่แล้ว (ตั้งแต่เรื่องดีเฟนด์ทักษิณในปี 49 ถึงเรื่องวิพากษ์นักวิชาการ ถึงเรื่อง "ฝุ่นตลบ" เมื่อไม่กี่วันนี้) [หมายเหตุ: ผมไม่เคยคิดว่านี่เป็นเรื่อง calculating หรือ conscious decision (คิดคำนวนเรื่องเหล่านี้) แต่เป็นเรื่อง characters of thought มากกว่า]

Saturday, April 9, 2011

ท้าให้ คน "รักในหลวง" ทุกคน ตอบประเด็นเรื่อง "สถาบันกษัตริย์ดีเยี่ยม - นักการเมืองเลวสุด" นี้ครับ พนันได้เลยว่าตอบไม่ได้





ประโยคแบบนี้ ของผู้จงรักภักดี ที่เห็นกันบ่อยๆ ผิดตรงไหน?

ความฉิบหายของบ้านเมืองไม่เคยมาจากสถาบัน ทุกเหตุการณ์ล้วนมาจากนักการเมืองทั้งสิ้น...ท่านก็อยู่ในวังของท่านทุกวัน ไอ้พวกที่ป่วนบ้านป่วนเมืองล้วนมาจากฝีมือนักการเมืองทั้งสิ้นครับ.... โกงก็นักการเมือง ทั้งโกง ทั้งกินงบของซาติจนจะฉิบหายกันแล้ว.... แต่ในหลายๆเหตุการณ์มักจะยุติที่สถาบันเป็นผู้ชี้ทางออกให้ ..

ผมยืมประโยคเหล่านี้มาจากคณ @Sky Bird ในกระทู้นี้ของผม ใครที่เคยฟังสัมภาษณ์อย่างหมอตุลย์ หรืออ่านตามเพจ จงรักภักดีต่างๆ ก็จะเห็นบ่อยๆ

แต่ประโยคแบบนี้ผิดมากๆ ด้วย เหตุผล 2 ประการ (ความจริงเป็นประการเดียว เพราะต่อเนื่องกัน) คือ

1. เป็นประโยคที่คนเถียงไม่ได้ แม้จะรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่....
2. ที่เถียงไม่ได้ ไมใช่เพราะ "เป็นความจริง" ครับ ตรงกันข้ามเลย เพราะมันไม่ได้วางอยู่บน "ฐาน" หรือ "บรรทัดฐาน" ของ "ความจริง" ทีเรายอมรับกันในโลกปัจจุบันต่างหากครับ

เถียงไม่ได้ แม้จะไม่เห็นด้วยยังไง?

ผมว่า ถ้าผู้จงรักภักดี คิดดูให้ดี ก็คงน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก คือ สมมุติผมเกิดไม่เห็นด้วย แล้วจะให้ผมเถียงยังไง? จะให้เสนอในทางกลับกัน จากประโยคข้างบน ผมก็โดน ม.112 เล่นงานเท่านั้น คือ ต่อให้สมมุติ (ย้ำ สมมุติ) ผมมีทั้งข้อมูลและเหตุผลหนักแน่นสนับสนุน ในการที่จะเสนอกลับกันกับข้างบนที่พวกคุณเสนอ ผมก็ไม่สามารถเถียงได้อย่างเต็มที่ อย่างมากก็อาจจะแค่ "ชี้เป็นนัยๆ" แบบ"เบาๆ" ว่ามีข้อมูลหรือเหตุผลที่โต้แย้งได้เท่านั้น - ดังตัวอย่างข้างล่าง

และที่เถียงไม่ได้แบบนี้ นี่เอง ก็สะท้อนว่า ประโยคแบบนี้ ไม่ได้ตั้งอยู่บน "ฐาน" หรือ "บรรทัดฐาน" ของ "ความจริง" ตามที่เรายอมรับกันปัจจุบัน

ลองดูประโยคข้างบนอีกที ทำไมพวกจงรักภักดี จึงคิดว่า นักการเมือง "เลว" อย่างที่ว่า?

ก็เพราะเราสามารถที่จะ ดีเบตเรื่องนักการเมืองได้ เราสามารถจะหยิบยกกรณีต่างๆเกี่ยวกับนักการเมืองมาอภิปรายได้ ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องศีลธรรม เรื่องเงินทอง แล้วพอเรายกได้ เราเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ทางสาธารณะได้ เราก็ยอมรับว่า มันคือ "ความจริง"

ที่ประหลาดคือ ในทางกลับกัน เราไม่สามารถ ทำแบบเดียวกันในกรณีสถาบันกษัตริย์ได้ อย่างที่บอกว่า ต่อให้สมมุติว่าเรา มีข้อมูลหรือเหตุผลที่จะ (สมมุตินะครับ สมมุติ) เสนอในทางตรงข้ามเลยกับข้อความข้างบน เราก็ทำไมได้ .. แต่ "ประหลาด" ที่ บรรดาผู้จงรักภักดี กลับยอมรับว่า "ความจริง" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างทีว่ามา ทั้งๆที่วางอยู่บน "ฐาน" หรือ "บรรทัดฐาน" ที่ไม่สามารถมีการตรวจสอบเรื่องข้อมูล ไม่สามารถมีกาารเสนอ เรื่องเหตุผลในทางลบได้

พูดจริงๆนะครับ ยกเลิก ม.8 รธน. ยกเลิก 112 (เป็นอย่างน้อย) ให้ผมสิครับ แล้วผมจะแสดงให้ดูว่า สามารถที่จะมีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุน ในทางตรงกันข้ามเลยกับข้อสรุปข้างบนอย่างไรได้บ้าง

ในระหว่างที่ ผมยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายอยู่นี้ ให้ผมลองพูดแบบจำกัด แค่ยกตัวอย่างไม่กี่กรณีเท่านั้น เอาแค่ เรื่อง "หัวข้อ" ของกรณีเหล่านี้ คุณคิดหรือว่า ถ้ามีการให้เสรีภาพในการให้ข้อมูล ในการยกเหตุผลอภิปรายกันอย่างเต็มที่จริงๆ จะสามารถทำให้ข้อสรุปเกี่ยวกับสถาบันกษํตริย์ของคุณ "ยืน" อยู่แบบนั้นได้?

(เอาตั้งแต่ต้นรัชกาล) กรณีสวรรคต ร.8, กรณีทรงแต่งตั้งสฤษดิ์ เป็นผู้รักษาพระนคร หลังสฤษดิ์รัฐประหาร โดยที่พระบรมราชโองการแต่งตั้งนั้น ไมมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามที่ รธน.บอก, กรณีที่สถาบันกษัตริย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส, กรณีการประทะหน้าสวนจิตรฯในเช้าวันที่ 14 ตุลา, กรณีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับ กลุ่มอย่างลูกเสือชาวบ้าน ไปจนถึงกรณี 6 ตุลา, กรณีทรัพย์สินของรัฐหลายพันล้าน อยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยทั้งสิ้น (ซึ่งผิดหลักการมากๆ ไม่มีประเทศไหนในโลกสมัยใหม่ให้ทำกัน รวมท้้งของไทยเอง ลองนึกว่า ถ้ายกทรัพย์สินหลายพันล้านให้ นายกฯควบคุมโดยสิ้นเชิง จะมีใครยอมไหม? ต่อให้เป็น นายกฯ"มือสะอาด" แบบปรีดี หรือ ป๋วย กลับชาติมาเกิดก็ตาม?) กรณีค่าใช้จ่ายต่างๆเกียวกับสถาบันกษัตริย์ (นึกถึงการ "เดินทาง" หรือการใช้ "ยานพาหนะ" ประเภทต่างๆของพระราชวงศ์บางพระองค์) ไปจนถึงแม้แต่กรณีเรื่องที่พูดกันถึง "ความวิเศษ" ของ "โครงการหลวง" คุณรู้ได้ยังไว่า "วิเศษ" จริงๆ? ในเมื่อไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่สามารถนำมาวิพากษ์เอาผิด หรือที่เรียกว่า accountability กันได้?) ในแง่การเมือง ก็เถอะ เรื่องที่อ้างเรื่อง "แก้วิกฤติ" น่ะ ถ้าให้อภิปรายกันจริงๆถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษํตริย์กับทหาร อย่างเต็มที่ล่ะ?

ท้ังหมดที่พูดมานี้ ผมเพียงพูดแบบ ย่อที่สุด เฉพาะหัวข้อเท่านั้น ไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น และไม่ได้พูดถึงอีกนับไม่ถ้วนประเด็นเลยด้วยซ้ำ เพราะพูดมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ถ้าสังคมไทยมีเสรีภาพในการพูดเรือ่งพวกนี้จริงๆ คุณคิดว่า ข้อสรุปเรื่อง "ความดี-ไม่ดี" ระหว่างสถาบันกษัตริย์-นักการเมือง ของคุณจะเป็นเหมือนแบบที่ชอบพูดๆกัน แลผมยกมาข้างบนนั้นได้จริงๆหรือ?

ทุกวันนี้ ที่คุณยังพูดแบบที่พูดมาซ้ำๆกันได้ ก็เพราะคนที่ไม่เห็นด้วย เขาเถียงไม่ได้ เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ เพราะสังคมไทยไม่ยอมให้มีการเถียงในสิ่งที่คุณพูดมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีข้อมูลหรือเหตุผลประกอบอย่างหนักแน่นขนาดไหน

เพราะพวกคุณ "หลอกตัวเอง" ในเรื่องอะไรคือความจริง ไม่จริง คุณยอมรับว่า เป็น "ความจริง" เรื่องเกียวกับนักการเมือง ที่คุณสามารถมีข้อมูลด้านลบได้ สามารถเถียงกัน ให้เหตุผลชักจูงกันในทางลบได้ ... แต่พอมาถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ที่ทำแบบเดียวกันไม่ได้ ที่คุณรับมาแต่ข้อมูลด้านเดียว แบบถูก "โปรแกรม" ใส่หัวมาแต่เด็กๆ และไม่มีสภาพแวดล้อมทางสังคม ให้ถกเถียง ให้โต้แย้งในสาธาารณะได้ คุณกลับเชื่อวา นั่นเป็น "ความจริง" เหมือนกัน

ไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ไร้เหตุผล ไร้สามัญสำนึกมากๆหรือครับ?

ลองกลับไปอ่านเฉพาะหัวข้อกรณีต่างๆที่ผมเขียนมาข้างบนอีกที ถ้ามีเสรีภาพในการอภิปรายโต้แย้ง ให้ข้อมูลในประเด็นเหล่านั้นได้เต็มที่จริงๆ ข้อสรุปเกียวกับสถาบันกษัตริย์ของสังคมไทย จะเป็นแบบที่เป็นหรือ?

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 2 เมษายน 2554)

เรียนถามฟ้าหญิงจุฬาภรณ์: ตาย 91 เจ็บ 2 พัน ไม่น่าสะเทือนใจกว่าการ"เผาบ้านเผาเมือง"หรือครับ? และเหตุใดไม่ทรงวิจารณ์พันธมิตรครับ?

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 5 เมษายน 2554)


ดังที่ผมชี้ให้เห็นก่อนหน้านี้ การพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในรายการ "วู้ดดี้ เกิดมาคุย" เกิดขึ้นในปริบทที่ "ไม่ยุติธรรม" เพราะแม้พระองค์จะไม่ทรงอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" แต่ทรงพาดพิงถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายนั้น และในทางปฏิบัติ สังคมไทยอยุ่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียว ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์พระราชวงศ์ไม่ว่าพระองค์ใด ก็ทำได้ลำบากอย่างยิ่ง (ซึ่งไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง) แต่ข้อความบางตอนในคำสัมภาษณ์ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เมษายน 2554) ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน ในลักษณะที่ผมเห็นว่า ถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นอีก ผมหมายถึงข้อความต่อไปนี้ ในคำให้สัมภาษณ์ (เริ่มจากนาทีที่ 3.23 เป็นต้นไป ในคลิป YouTube นี้ ขอบคุณ CiNNtv1 สำหรับการอัพโหลด)

จะเล่าไป ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่อยากพูดถึงใครว่าใครดีใครเลว ไม่รู้ เพราะไม่เคยคบนักการเมือง แต่ว่า รู้แต่ว่า เหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการเผาบ้านเผาเมืองกัน อันนั้นนำความทุกข์มาสู่พระเจ้าอยู่หัว [และ]สมเด็จฯเหลือเกิน พระเจ้าอยู่หัวนี่ จากที่ทรงหัดเดินได้น่ะ ตอนนั้นน่ะ ทรงทรุดเลย เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ่บเลย สมเด็จฯก็เสียพระทัยมากเหลือเกิน ท่านรับสั่งว่า 'คราวที่เราถูกเผาเมืองนั้น คือสมัยเสียกรุงต่อพม่า กรุงศรีอยุธยา แต่คราวนี้ สะเทือนใจยิ่งกว่า เพราะเป็นการที่คนไทยเผาเมืองไทยเอง'
ก่อนอื่น จะเห็นว่า แม้จะทรง "ออกตัว" ว่า "ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง" แต่คำสัมภาษณ์ตอนนี้ มีลักษณะการเมืองอย่างชัดเจนและมากด้วย (อันที่จริง ถ้าพูดถึง "การเมือง" ในความหมายกว้าง อย่างที่ยอมรับทั่วไปในวงการศึกษาวิชาการปัจจุบัน การสัมภาษณ์ทั้งหมดก็เป็นเรื่อง "การเมือง" ในตัวเองอยู่แล้ว) ผมขอย้ำว่า การที่ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ หรือมีพระราชดำรัสทางการเมืองแบบนี้ ในสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่อง "ไม่แฟร์" เลย มีหนังสือพิมพ์หรือทีวีใด จะกล้าแสดงความเห็นโต้แย้งด้วยตัวเองหรือเผยแพร่ความเห็นโต้แย้ง ไม่ว่า นสพ.หรือทีวีนั้น หรือคนอื่นๆ จะไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือไม่ว่าคำสัมภาษณ์หรือพระราชดำรัสนั้นจะสามารถโต้แย้งได้เพียงใดก็ตาม ทั้งในแง่ข้อมูลหรือเหตุผล?

ประการต่อมา ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงอ้างอิงถึงพระสุขภาพกายและใจของทั้งในหลวงและพระราชินีว่าทรุดโทรมลงอย่างหนัก จากการที่มีการ "เผาบ้านเผาเมือง" เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย

ในกรณีในหลวงนั้น เนื่องจากมีส่วนเกียวข้องกับพระพลานามัยในแง่ธรรมชาติ จึงยากจะประเมินว่า การที่ทรง "ทรุด" ถึงขั้น "นอนแบ่บ" นั้น เกิดจากที่ทรงเห็นการ "เผาบ้านเผาเมือง" หรือเกิดจากโรคาพยาธิอื่น ผมจึงขอละเว้นที่จะแสดงความเห็นต่อปัญหาพระพลานามัยของในหลวงโดยตรง และต้องถือว่าเรื่องที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงเล่าในส่วนนี้ เป็นการตีความเชิงการเมือง (political interpretation) หรือแสดงความเห็นทางการเมือง ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ พูดง่ายๆคือ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เองทรงเห็นว่า การ "เผาบ้านเผาเมือง" ทำให้ในหลวง "ทรงทรุด" ถึงขั้น "เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ่บเลย"

ในกรณ๊พระราชินีนั้น แม้คงเชื่อได้ว่า ทรง "เสียพระทัย" และทรงมีรับสั่งเปรียบเทียบการ "เผาบ้านเผาเมือง" ปีกลาย กับการ "เสียกรุง" จริงดังที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงเล่า เพราะเรามีหลักฐานแวดล้อมอื่น ที่ทำให้ทราบว่า พระราชินีทรงสนับสนุนผู้ที่มีความเห็นวิจารณ์การชุมนุมของเสื้อแดง ดูภาพ พระราชหัตถเลขา ที่มีถึงคุณนภัส ณ ป้อมเพ็ชร์ ข้างล่าง (ในจดหมายคุณนภัส ถึง CNN มีข้อความโจมตีการชุมนุมของเสื้อแดงหลายตอน การแสดงความไม่พอใจ CNN ของคุณนภัส อยู่บนพื้นฐานของการแสดงความไม่พอใจการชุมนุมของเสื้อแดง ดูจดหมายคุณนภัส ที่นี่


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระราชินีทรงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และในเมื่อการอ้างพระราชดำรัสพระราชินีโดยฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เป็นไปในลักษณะที่ทรงเห็นชอบด้วย (endorse) กับพระราชดำรัสดังกล่าวอยู่แล้ว ในที่นี้ ผมจึงแสดงความเห็นต่อ คำให้สัมภาษณ์ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ข้างต้นทั้งหมด ในฐานะที่เป็นความเห็นของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแสดงทัศนะของพระองค์ต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปีกลายในลักษณะนี้ เพียง 2 สัปดาห์เศษหลังการชุมนุมยุติลงจากการปราบปรามของรัฐบาล (วันที่ 6 มิถุนายน 2553) ทรงมีพระราชดำรัสต่อคนไทยในนิวยอร์คว่า (ดูรายงานข่าวที่นี่ ข้อความจากพระราชดำรัสข้างล่างนี้ ผมถอดจากคลิปประกอบรายงานข่าว เริ่มที่นาทีที่ 1.07)
เรื่องการเมือง ข้าพเจ้าไม่รู้ด้วยหรอก ว่า ใครจะเกลียดใคร ใครอยากจะชิงดีชิงเด่นกับใคร แต่ว่า ทำไปนี่ อย่างน้อยน่าจะมีจรรยาบรรณซักนิดนึง สงสารประชาชนตาดำๆ ซักนิดนึงว่าจะเดือดร้อนกันแค่ไหน อันนี้ที่ผ่านมา นอกจากจะเดือดร้อนเรื่องความเจ็บ ความป่วยแล้ว ก็ยังเดือดร้อนทางด้านธุรกิจ คือว่าการที่มีประท้วงนานๆ มีความรุนแรงเกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจของเราเดือดร้อน ซึ่งก็กระทบเศรษฐกิจของประเทศไทย

จะเห็นว่าเนื้อหาของพระราชดำรัสที่นิวยอร์คกับพระราชดำรัสในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" เป็นไปในทางเดียวกัน คือทรงวิจารณ์การชุมนุมของเสื้อแดง โดยเฉพาะในส่วนที่เกียวกับผลกระทบต่อ "ภาคธุรกิจ" แม้แต่เรื่องการ "เผาบ้านเผาเมือง" นั้น ความจริง ก็ดังที่รู้กันว่า ไม่ใช่ "บ้านเมือง" ของประชาชนธรรมดาจริงๆ ไม่ใช่แม้แต่ตลาดหรือร้านค้าบ้านช่องธรรมดา แต่คือ ศูนย์การค้าย่านธุรกิจระดับสูง แน่นอน เป็นสิทธิของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ที่จะหยิบยกเอาประเด็นผลกระทบต่อ "ภาคธุรกิจ" หรือการเผาศูนย์การค้าย่านธุรกิจระดับสูงขึ้นมาวิจารณ์

แต่สิ่งแรกที่น่าจะสะดุดใจผู้ติดตามการเมืองในระยะไม่กี่ปีนี้ ก็คือ เหตุใดในระหว่างหรือหลังการ "ประท้วงนานๆ" (คำของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ข้างต้น) ในกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 ซึ่งรวมถึงการยึดครองสถานที่ราชการสำคัญที่สุดคือทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งยวดของ "ภาคธุรกิจ" ของประเทศ (และมากยิ่งกว่าภาคธุรกิจ) คือสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์จึงไม่ได้ทรงมีพระราชดำรัสในลักษณะเดียวกัน? อันที่จริง เราทราบกันดีว่า ทรงโดยเสด็จพระราชินีในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ประท้วงชาวพันธมิตรคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ในระหว่างที่การชุมนุมของพันธมิตรยังไม่ยุติด้วย (และถ้าข้อมูลจากโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ถูกต้อง ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และนายแพทย์ชัยชน โลว์เจริญกุล เป็นผู้ขอให้พระราชินีเสด็จด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ)

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งในพระราชดำรัสที่นิวยอร์คและการสัมภาษณ์ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" เหตุใดจึงไม่ทรงเอ่ยถึงเลย ถึงการที่มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลถึงเกือบ 100 คน และพิการบาดเจ็บอีกเกือบ 2 พันคน? ถ้าอะไรจะน่า "สะเทือนใจ" ที่สุดจากเหตุการณ์พฤษภาคมปีกลาย ก็ควรจะเป็นเรื่องนี้ไม่ใช่หรือ? ยิ่งกว่าเรื่องที่มีการเผาย่านธุรกิจระดับสูง (ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าฝีมือใคร แต่ต่อให้สมมุติว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมก็ตาม)?

การที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแสดงออกซึ่งความสะเทือนใจกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมพันธมิตร 1 คนในปี 2551 ถึงกับโดยเสด็จในงานพระราชทานเพลิงศพ เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้อยู่ (ผมเองก็สะเทือนใจ) แต่กับผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ที่ไม่ทรงเอ่ยถึงเลย แต่กลับทรงเอ่ยเฉพาะเรื่องการเผาตึกราม ที่ไม่ใช่ "บ้านเรือน" ด้วยซ้ำ แต่เป็นศูนย์การค้าชั้นสูง ออกจะเป็นอะไรที่ผมเข้าใจยากอยู่สักหน่อย



ปล. ในระหว่างเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระเทพ ได้ทรงให้สัมภาษณ์ว่า "การฆ่าฟันหรือทำรุนแรงเป็นเรื่องไม่ดี การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน อยากให้เลิกฆ่าฟัน เลิกรุนแรงเพราะว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน" ในขณะที่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับวิกฤติเดือนพฤษภาคม 2535 มีความซับซ้อนมากกว่าที่มักจะนำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์กัน เฉพาะข้อความพระราชดำรัสของพระเทพที่ว่า "การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน" นี้ ต้องถือว่าถูกต้องและเหมาะสมกว่าการยกประเด็น "เผาบ้านเผาเมือง" ขึ้นมาไฮไลต์ แน่นอนในระหว่างเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านมา ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า สมเด็จพระเทพเองก็ไม่ได้ทรงให้สัมภาษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้อีก

บันทึกเปิดผนึก เรียน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่าด้วย "ความยุติธรรม"

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 31 มีนาคม 2554)



ผมทราบว่า ในราชาศัพท์ การ "แอ๊ดเดรส" เจ้านายระดับ "เจ้าฟ้า" นั้น ใช้คำประเภท "ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท" และ "ใต้ฝ่าพระบาท" และคำเรียกตัวเองว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" แต่ว่า (1) นี่เป็นบทความสำหรับการอภิปรายสาธารณะ ที่ต้องการให้อ่านกันสะดวก และ (2) "ใต้ฝ่าพระบาท" เอง ทรงมีหลายสถานะ รวมทั้งสถานะความเป็น "นักวิชาการ/อาจารย์" แบบเดียวกับผม ผมเลือกทีจะพูดในสถานะแบบนี้ เพื่อความสะดวก ในส่วนอื่นๆของบทความนี้ ผมก็เลือกที่จะใช้ราชาศัพท์เท่าที่จำเป็นเพื่อความสุภาพ แต่ไม่ได้ใช้ในทุกๆประโยค ทุกๆกรณีเพื่อความสะดวก


ผมรู้สึกสนใจอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ออกทีวีในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ตามที่มีรายงานข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะทาง "ข่าวสด" ที่ผมใช้อ้างอิงในบทความนี้

อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญพื้นฐานเกี่ยวกับคำสัมภาษณ์นี้ ที่ผมเห็นว่า ควรจะได้แลกเปลี่ยนกับพระองค์และสาธารณะ

ตามรายงานข่าว พระองค์ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

ใจจริงของฉันอยากจะขอเวลาจากรายการทีวีช่วงสั้นๆ แค่ 5 นาที 10 นาที ฉายพระราชกรณียกิจที่ท่านทำ สงสารท่านเถอะ ท่านทุ่มเทเต็มที่ เอาใจใส่ทุกรายละเอียดทุกงานที่ทำทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็นห่วงเรื่องความสามัคคีของคนไทย อยากให้กลมเกลียว คนไทยต้องเข้มแข็ง ชาติจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฉันอยากให้ทั้ง 2 พระองค์ได้รับความยุติธรรมตามที่ท่านควรจะได้รับ

เรื่องที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถนี้ได้เป็นประเด็นหลักที่หนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่่องการพระราชทานสัมภาษณ์นี้ นำไปพาดหัว

ในความเห็นของผม ปัญหามีอยู่ว่า การให้สัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" ให้กับ 2 พระองค์ นี้ โดยการให้สัมภาษณ์เอง เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม หรือพูดง่ายๆคือ ไม่แฟร์ ถ้าถือตามความหมายของคำนี้ตามที่ยอมรับกันทั่วไป

กล่าวคือ ในขณะที่พระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) ไม่ได้ทรงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรียกกันว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ก็จริง

แต่โดยประเพณีของการตีความกฎหมายนี้ในลักษณะครอบจักรวาลที่ผ่านๆมา และในปริบทของการที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะพลเมืองตั้งแต่เด็กๆแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่ว่าระดับใด (รวมทั้งฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) โดยที่การประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะดังกล่าว ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง ได้

ผลก็คือ แม้แต่การให้สัมภาษณ์ของพระองค์ (ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์) เช่นนี้ ก็ยากที่จะมีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์นี้ เกี่ยวพันถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การจะวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงถึง 2 พระองค์ด้วย (เช่น ทรงไม่ได้รับ "ความยุติธรรม" หรือไม่อย่างไร เป็นต้น)

ตามหลักการที่ทั่วโลกอารยะถือกันในปัจจุบัน การที่บุคคลสาธารณะ แสดงความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องที่เป็นสาธารณะ เช่นที่ทรงให้สัมภาษณ์นี้ จะต้องเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งโต้แย้งได้ การไม่เปิดโอกาสเช่นนั้น ย่อมถือเป็นการ "ไม่แฟร์" หรือ "ไม่ยุติธรรม"

ในปริบทสังคมไทยทั้งทางกฎหมายและทางการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะดังกล่าว ทำให้การพระราชสัมภาษณ์ที่ทรงเรียกร้อง "ความยุติธรรม" นี้ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ ที่ตรวจสอบไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ ซึ่ง "ไม่ยุติธรรม" ไปโดยปริยาย


..........




ผู้ "นิยมเจ้า" จำนวนไม่น้อย มักจะโต้แย้งว่า การมี "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และการห้ามการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ตรวจสอบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เป็นเพราะ พระราชวงศ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะมาโต้แย้งหรือตอบโต้การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ (มักจะพูดกันทำนองว่า "พระองค์ท่านไม่สามารถตอบโต้ได้" จึงต้องให้รัฐทำการ "ตอบโต้" ด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงในระดับที่ไม่มีประเทศอารยะที่ไหนอนุญาตให้มี)

ความจริง "เหตุผล" หรือข้อโต้แย้งนี้ ไม่มีน้ำหนัก ไม่เป็นเหตุผลแต่แรก เพราะ เป็นการให้เหตุผลแบบกลับหัวหลับหาง เอาปลายเหตุมาอ้างเป็นต้นเหตุ

การที่มีผู้เรียกร้องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ (accountability) เกี่ยวกับพระราชวงศ์นั้น เริ่มมาจากการที่พระราชวงศ์ได้เข้ามามีบทบาททางสาธารณะในทุกด้านอย่างมหาศาล โดยมีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียว เป็นเครื่องพยุงส่งเสริมบทบาทเหล่านั้น ซึงตามบรรทัดฐานที่ยอมรับกันทั่วไปในโลกอารยะ (รวมทั้งในประเทศไทยในกรณีอื่นๆ) บทบาทสาธารณะทุกอย่างของบุคคลสาธารณะและการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะทีเป็นสาธารณะในลักษณะนี้ จะต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโต้แย้งกระทั่งเสนอให้เอาผิดได้แต่แรก

ถ้าไม่มีบทบาทและระบบการประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์แต่แรก ก็ไม่มีความจำเป็นหรือการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอเอาผิด (accountability) แต่แรก

พูดง่ายๆคือ ถ้าไม่ต้องการให้มีการเรียกร้องเรื่อง accountability ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระราชวงศ์ ก็ต้องไม่มีบทบาทอันมหาศาลและระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวอบรมบ่มเพาะด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ แต่แรก


การมีสิ่งเหล่านี้แต่แรก แล้วเมื่อมีคนเรียกร้องเรื่อง accountability ต่อสิ่งเหล่านี้ แล้วฝ่าย "นิยมเจ้า" กลับมาอ้างว่าห้ามไม่ให้ทำ เพราะพระราชวงศ์ "ไม่สามารถออกมาตอบโต้เองได้" จึงเป็นการอ้างที่ภาวะปลายเหตุ อันเป็นภาวะที่เกิดจากการทำผิดหลักการเรื่องนี้แต่แรก

การที่ประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศที่ยังมีพระราชวงศ์เป็นประมุข ไม่อนุญาตให้มีบทบาทสาธารณะของพระราชวงศ์และไม่อนุญาตให้มีระบบการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว อบรมบ่มเพาะพลเมืองด้านเดียวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ในลักษณะที่ประเทศไทยมี นับแต่สมัยเผด็จการสฤษดิ์ ก็เพราะถือกันว่า การมีบทบาทสาธารณะและระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะพลเมืองเกี่ยวกับเรื่องใดๆก็ตามนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเอาผิดของสาธารณะได้แต่ต้น

พวก "นิยมเจ้า" ของไทย ยอมให้มีการทำผิดหลักการเรื่องการมีบทบาทสาธารณะและประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะซึงเป็นเรื่องสาธารณะ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ โดยไม่มีการวิพากษ์ตรวจสอบแต่ต้น ซึ่งการยอมให้มีภาวะนี้ (ถ้ายืมคำที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงใช้) ต้องถือเป็นความไม่ "ยุติธรรม" แต่เมื่อมีคนเรียกร้องให้ปฏิบัติให้ถูกตามหลักการนี้ ให้ยุติภาวะ "ไม่ยุติธรรม" นี้ พวกเขาก็มาอ้างเรื่อง "พระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ซึ่งเป็นการอ้างในลักษณะที่ ต้องการรักษาภาวะที่ "ไม่ยุติธรรม" ที่เกิดขึ้นก่อน จึงไม่สามารถเอาเรื่อง "ความยุติธรรม" มาอ้างได้

พูดง่ายๆคือ พวกเขากำลังอ้างว่า "ไม่ยุติธรรม ที่จะให้คนวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพระราชวงศ์ตอบโต้ไม่ได้" ความจริงที่มีคนต้องการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกิดจากการที่สังคมไทยยอมให้มีความ "ไม่ยุติธรรม" เกิดขึ้นก่อน คือการยอมให้มีบทบาทสาธารณะอย่างมหาศาลของราชวงศ์และมีระบบประชาสัมพันธ์อบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียวมาพยุงบทบาทนั้น อย่างไม่มี accountability ก่อน ซึ่งไม่มีประเทศอารยะที่ไหน ยอมให้มี "ความไม่ยุติธรรม" เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่แรก เป็นการผิดหลักการทีสังคมไทยเองใช้กับเรื่องสาธารณะทั้งหลายแต่แรก