Friday, September 25, 2009

ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของ "ปรีดี" ที่เพิ่งเผยแพร่



ไม่กี่วันมานี้เอง ได้มีผู้นำภาพสแกนเอกสารที่อ้างว่าเป็นจดหมายของปรีดี พนมยงค์ ที่เล่าว่า ชิต สิงหเสนี หนึ่งในจำเลยคดีสวรรคตที่ถูกประหารชีวิต ได้บอกความลับอะไรให้ เผ่า ศรียานนท์ ฟัง ก่อนจะถูกนำตัวไปยิงเป้า มาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ภาษาอังกฤษบางแห่ง*

[*สำหรับท่านที่ไม่ทราบภูมิหลัง ผมขอเล่าสั้นๆว่า ก่อนที่ ชิต บุศย์ และ เฉลียว จะถูกนำตัวไปสู่หลักประหาร ในเช้ามืดของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 นั้น เผ่า ศรียานนท์ ได้เดินทางไปที่คุกบางขวาง ที่เป็นแดนประหาร เพื่อสังเกตการณ์การประหารชีวิตด้วย และมีรายงานข่าวทาง นสพ.ว่า เผ่า ได้สนทนากับผู้กำลังจะถูกประหาร บางข่าวก็ว่า สนทนากับ เฉลียว บางข่าวก็ว่า สนทนากับทั้ง 3 คน หลังจากนั้น ไม่นาน ก็มีข่าวลือว่า ผู้ถูกประหาร ได้เล่า "ความลับ" ให้เผ่าฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆบนพระที่นั่งบรมพิมารในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา เพราะ จอมพล ป ได้ส่งสาร (โดยให้ สังข์ พัธโนทัย มือขวาของเขา เป็นผู้ดำเนินการ) ไปยังปรีดี ทีเมืองจีน ขอให้หันมาร่วมมือกันอีก โดย จอมพล จะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลที่เผ่าได้จากการคุยกับจำเลยก่อนการประหารชีวิต ได้มีผู้นำจดหมายของปรีดี ที่เขียนตอบสังข์ ในเรื่องนี้มาตีพิมพ์แล้ว ผมเองได้คุยสัมภาษณ์อดีตผู้สนับสนุนปรีดีคนหนึ่งที่เป็นคนถือสารของจอมพล ป. ไปให้ปรีดีทีเมืองจีน ดูรายละเอียดในบทความของผม "ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และ รัฐประหาร 2500", ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, หน้า 31-35 และ “50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2548]

ตามคำอธิบายของผู้นำ "จดหมายปรีดี" ดังกล่าวมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ นี่เป็นจดหมายที่ปรีดี ส่งให้อดีต "ลูกศิษย์" คนหนึ่ง จดหมายฉบับนี้มาถึงมือผู้เผยแพร่ เพราะลูกชายของอดีต "ลูกศิษย์" ปรีดีคนนั้นมอบให้ผู้เผยแพร่ (ผู้เผยแพร่ใช้คำว่า French son of one of Pridi's ex-students ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่า อดีตลูกศิษย์ปรีดีคนดังกล่าวแต่งงานกับคนฝรั่งเศส แล้วมีลูกชายถือสัญชาติฝรั่งเศส) ผู้เผยแพร่กล่าวว่า ลูกชายของอดีตลูกศิษย์ปรีดีเล่าว่า จดหมายได้ถูกเก็บไว้ในตู้เก่าๆที่มีฝุ่นจับ โดยไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน แต่คุณพ่อของเขา (อดีตลูกศิษย์ปรีดี) ให้ความสำคัญและหวงแหนจดหมายนี้มาก "[the document] had remained locked away in a dusty cupboard all these years, and had been treasured by his father."

ผมไม่เคยเห็นจดหมายฉบับนี้มาก่อนเลย แต่เมื่อดูเฉพาะจากภาพสแกน และวิเคราะห์เนื้อหาในจดหมายแล้ว ต้องบอกว่า ดู "เหมือนจริง" มาก (ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป)

ถ้าจดหมายนี้เป็น "ของจริง" จะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในแง่ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรณีสวรรคต

1

ก่อนอื่น ผมขอเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่นานมานี้เอง ได้มีผู้อ่านงานของผมทางอินเตอร์เน็ตบางท่าน ส่งภาพสแกนเอกสารฉบับหนึ่งมาให้ผมพิจารณา โดยกล่าวว่า เป็นเอกสารที่ปรีดีทำขึ้น เอกสารดังกล่าว มี 2 หน้า เนื้อหาเล่าถึง คำบอกเล่าของ ชิต ต่อ เผ่า ในช่วงก่อนถูกประหารชีวิตว่า เกิดอะไรขึ้นบนพระที่นั่งบรมพิมารในเช้าวันสวรรคตในหลวงอานันท์

เอกสารมีลักษณะดังนี้ (ส่วนที่เป็นสีขาว คือส่วนที่ผมจำเป็นต้องเซนเซอร์ ตัดออก)


อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาแล้ว ผมได้ลงความเห็นว่า เอกสารนี้มีปัญหาในแง่ของความเป็นหลักฐานจริง (authentic) คือ น่าจะไม่ใช่เอกสารที่ปรีดีทำขึ้นจริงๆ

สำหรับท่านที่สนใจเชิงวิชาการ วิธีพิจารณาหลักฐานต่อไปนี้ คือเทคนิคทีนักประวัติศาสตร์เรียกว่า การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเริ่มจาก "การวิพากษ์ภายนอก" คือพิจารณาองค์ประกอบด้านรูปแบบภายนอกของเอกสาร และ "การวิพากษ์ภายใน" คือพิจารณาด้านเนื้อหาของเอกสารนั้น ตามลำดับ

ก่อนอื่นที่สุด ถ้าพิจารณาตัวพิมพ์ จะเห็นว่า เอกสารนี้ถูกพิมพ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (word processor) สามารถเรียงคำให้ขอบด้านขวามือของหน้าเท่ากับหมด (right justification) ซึ่งพิมพ์ดีดทำไม่ได้ ที่สำคัญ ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์คือตัวอักษรแบบ Cordia ที่เรารู้จักกันดีในขณะนี้ ปัญหาคือ ตัวอักษรชนิดนี้ยังไม่มีใช้ในระหว่างที่ปรีดียังมีชีวิตอยู่ (ปรีดีถึงแก่กรรม 2 พฤษภาคม 2526) อันที่จริง เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC ที่เรียกว่ารุ่น XT ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่มีการใช้แพร่หลาย เพิ่งผลิตออกมาในปี 2526 นั้นเอง และโปรแกรม word processor ภาษาไทย ที่มีการเริ่มใช้ในช่วงแรก คือ "ราชวิถี" กับ Word Star ก็ไม่มีตัวอักษรแบบ Cordia นี้ใช้

ยิ่งไปกว่านั้น ใครที่ศึกษางานของปรีดีอย่างใกล้ชิด อาจจะทราบว่า ปกติ งานเขียนของปรีดี ถ้าไม่ใช่ลายมือ ก็จะพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดไฟฟ้ายี่ห้อไอบีเอ็ม ซึ่งนิยมใช้อย่างจำกัดในหมู่ผู้ที่พอจะหาซื้อได้ในขณะนั้น (เช่นในองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ก่อน 6 ตุลา มีอยู่เครื่องหนึ่ง ถือว่าทันสมัยไม่น้อย) แบบตัวอักษรของพิมพ์ดีดนี้ ไมใช่แบบตัวอักษรตามที่ปรากฏในเอกสารนี้ (ดูเพิ่มเติมประเด็นแบบตัวอักษรพิมพ์ดีดไอบีเอ็มที่ปรีดีใช้ ข้างล่าง)

ในส่วนเนื้อหานั้น ส่วนที่เป็นของ "ปรีดี" อ่านแล้วไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นสำนวนของปรีดีเท่าใดนัก ทั้งในแง่คำบางคำที่ใช้ และการผูกรูปประโยคบางประโยค เช่น ตั้งแต่บรรทัดแรกสุดเลยที่ว่า "แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียง 122 วัน แต่ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้เปลี่ยนชีวิตของข้าพเจ้า ไปตลอดนั้นคือเหตุการณ์สวรรคต ของในหลวง รัชกาลที่ 8" หรือบรรทัดสุดท้ายของเอกสาร (หน้า 2) "มีบางอย่างที่ข้าพเจ้าเองก็พอรู้แต่เป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ เรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่มีอายุ ความ ความจริงอาจปรากฏขึ้นแม้จะล่วงเลยเวลามาหลายร้อยปีก็ตาม" จากการได้ศึกษางานปรีดีอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ผมเห็นว่า สำนวนของปรีดีน่าจะมีลักษณะที่เป็นทางการกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อจะเขียนเรื่องสำคัญระดับนี้ (สำนวนในเอกสาร แม้จะใช้ "ข้าพเจ้า" แต่ - ดังที่เพิ่งยกตัวอย่าง - ให้ความรู้สึกของการเขียนในเชิงความเรียงแบบวรรณกรรม [literary] มากกว่า)

แต่ที่เป็นปัญหามากคือ เนื้อหาของเอกสารส่วนที่เป็นคำบอกเล่าของชิตต่อเผ่า ถ้าชิตเล่าความลับกรณีสวรรคตให้เผ่าฟังก่อนตายจริง ก็คงเป็นการเล่าด้วยปากสองต่อสอง ไม่น่าจะมีคนอื่นอยู่ด้วย แต่สำนวนในเอกสารกลับเป็นในลักษณะ เหมือนการให้ปากคำให้พนักงานจด เช่น ใช้คำว่า "ข้าฯ" โดยตลอด ต่อให้เผ่าเป็นคนฟังคนเดียวแล้วจดคำบอกเล่านั้นเอง ก็ยังไม่น่าจะเป็นสำนวนแบบนี้ (หรือถ้าเผ่าฟังแล้วจำเอา แล้วมาพิมพ์เป็นบันทึกทีหลัง เผ่าก็ไม่น่าจะพิมพ์บันทึกด้วยสำนวนคำให้การ "ข้าฯ") ที่สำคัญ ถ้ามีการบันทึกในลักษณะคำให้การแบบนี้ แล้วปรีดีได้รับมา ทำไมปรีดีไม่ระบุไปเลยว่ามีเอกสารคำให้การซึ่งเขาได้คัดลอกมา? และถ้าเป็นการคัดลอกเอกสารคำให้การจริง ทำไมบางช่วง "ปรีดี" จึงกลับไปใช้สรรพนามบุรุษที่สามกับชิตอีก (ดูหน้า 2 ย่อหน้าที่ 2 "นายชิตเล่าต่อไปว่า ...") ทำไมไม่คัดลอกมาทั้งหมด (ซึ่งก้อจะออกมาในรูปสรรพนามบุรุษที่ 1 "ข้าฯ" ตลอด)? ถ้าไม่มีเอกสารบันทึก แต่เป็นการบอกเล่าต่อๆกันมาถึงปรีดี ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่ปรีดีจะทำเอกสารเล่าเรื่องที่ได้ยินมาด้วยสำนวนเช่นนี้เลย

เนื้อหาส่วนที่ผมเซนเซอร์ไปนั้น บางตอนก็ดูไม่น่าจะเป็นความจริง (แต่ผมขออภัยที่ไม่สามารถอธิบายในที่นี้) แต่ที่สำคัญที่สุดในแง่ของเนื้อหาที่ทำให้เอกสารฉบับนี้ขาดลักษณะเป็นเอกสารจริง (authentic) คือ ตอนแรกสุดที่เป็นการเล่าของ "ชิต" เกี่ยวกับการเข้าเวรของเขานั้น ผิดความจริงอย่างสำคัญมากๆ นั่นคือ เวรประจำห้องบรรทมของวันที่ 8 ซึ่งต่อเนื่องไปถึงเช้าวันที่ 9 นั้น เป็นของบุศย์ ไม่ใช่ของชิต (ชิตไปนั่งอยู่ที่นั่นด้วยในเช้าวันที่ 9 ทั้งที่ไมใช่เวรของตน) แต่เอกสารเขียนว่า
โดยปกติ ข้าฯ(นายชิต) นายบุศย์ จะเข้าเวรสลับกันวันเว้นวัน และเป็นที่ทราบกันเองว่าอีกคนหนึ่งจะกลับได้ก็ต่อเมื่อ อีกคนหนึ่งมาถึงแล้วเท่านั้น โดยวันที่ 8 มิถุนายน 2489 เป็นเวรของข้าฯ แต่จริงๆแล้ววันนั้นเป็นเวรของนายบุศย์ แต่ข้าฯได้ขอแลกเวรกับนายบุศย์ เพื่อไปทำธุระกับคุณชูเชื้อ เมื่อช่วงต้นเดือน ทำให้วันที่ 8 มิถุนายน 2489 ตารางเวรจึงตกเป็นของข้าฯ
นั่นคือ ตามเอกสารนี้ ชิตเป็นเวรประจำวันที่ 8-9 มิถุนายน แม้จะเป็นเวรที่ "แลก" มากับบุศย์ก็ตาม

แต่ความเป็นจริงคือ ตารางเวรในขณะที่เกิดการสวรรคตนั้นเป็นของบุศย์ (และเท่าที่ผมทราบ ไม่มีการแลกเวรกัน แต่แลกมาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็น) ดังที่ชิต ได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนในคำให้การต่อ "ศาลกลางเมือง" เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2489 ดังนี้
นายบุศย์กับพยานเป็นมหาดเล็กห้องบรรทมในหลวงในพระบรมโกศ. . .พยานกับนายบุศย์อยู่กันคนละเวร เวรละ 24 ชั่วโมง คือเช้าวันนี้ ตั้งแต่ 11.00 น. เช้าวันนี้ ออก 11.00 น. เช้าวันรุ่งขึ้น. . .เวรวันที่ 8 คือตั้งแต่ 11.00 น. จนถึงวันที่ 9 เวลา 11.00 น.เป็นเวรของนายบุศย์ เมื่อวันที่ 9 พยานจะไปเอาหีบมาทำพระตรา พยานไม่ได้ช่วยนายบุศย์ทำงานอะไร ที่อยู่ก็เพื่อรอเอาหีบพระตราไปทำ (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8, มูลนิธิเด็ก 2547, หน้า 70)
ประเด็นนี้มีความสำคัญมากต่อการตัดสินคดีสวรรคตด้วย เพราะเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่โจกท์กล่าวหาชิต และศาลตัดสินประหารชิตเป็นคนแรกและคนเดียวในตอนแรก (ศาลชั้นต้นประหารชิตคนเดียว, ศาลอุทธรณ์เพิ่มประหารบุศย์, ศาลฎีกาเพิ่มประหารเฉลียว) ก็อาศัยเรื่องนี้นั่นเองมาอ้างว่า ชิตไม่ใช่เวรในเช้าวันที่ 9 แต่กลับไปปรากฎตัวอยู่ที่นั่น ทำให้ชวนสงสัย ("การที่นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 ไปนั่งอยู่หน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์โดยไม่ใช่เป็นเวรของตนนั้น ตามธรรมดาก็ส่อพิรุธอยู่ว่าจะได้ร่วมรู้เห็นเป็นผู้ร้ายด้วยกระมัง" คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ใน คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8, กรุงสยามการพิมพ์ 2523, หน้า 330) เรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ชิตจะจำผิด แม้แต่ปรีดี ถ้าเป็นผู้ทำเอกสารนี้จริง ก็คงต้องรู้ความจริงเรื่องเวรของใครนี้

2

ทีนี้ มาถึงจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของปรีดี ที่เพิ่งเผยแพร่ ซึ่งมีหน้าตาดังนี้ (เฉพาะส่วนที่ขีดดำ คือการเซนเซอร์ของผม ส่วนอื่นๆ เป็นไปตามฉบับที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์)


ที่ผมกล่าวตั้งแต่ตอนต้นว่า "จดหมายปรีดี" นี้มีลักษณะ "เหมือนจริง" มากก็เพราะ ก่อนอื่นที่สุด แบบตัวอักษรเป็นแบบตัวอักษรของพิมพ์ดีดไฟฟ้าไอบีเอ็ม ชนิดเดียวกับที่ปรีดีใช้ในขณะนั้นจริงๆ ขอให้ดูเปรียบเทียบกับจดหมายที่ปรีดีเขียนถึงนิตยสาร ตะวันใหม่ ในปี 2523 ดังนี้


ในแง่ลักษณะภายนอกด้านอื่นๆ จะเห็นว่าเอกสารถูกฉีกขาดบางส่วนคือ ด้านหัวกระดาษ, บริเวณมุมล่างด้านซ้าย และจุดเล็กๆราวกลางหน้ากระดาษ ซึ่งผมเดาว่าทั้ง 3 จุดที่ถูกฉีกขาดไปคือชื่อบุคคลทั้งผู้รับ และบางบุคคลที่มีการระบุในเนื้อความ (มุมล่างด้านซ้าย อาจจะเป็นลายมือของผู้รับ ลงวันที่รับเอกสาร หรือความเห็น ในลักษณะเดียวกับที่นิยมทำในหมู่คนที่เป็นข้าราชการก็ได้) แม้การพยายามปกปิดชื่อบุคคลในลักษณะฉีกขาดทำลายเอกสารสำคัญเช่นนี้ อาจจะดูแปลกสักหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ ไม่มีคำอธิบายจากผู้เผยแพร่ว่า ใครเป็นผู้ฉีก เขาเองหรือ "ลูกชายชาวฝรั่งเศสของอดีตลูกศิษย์ปรีดี" ถ้าเอกสารนี้เป็นเอกสารจริง ผมอยากจะเดาว่า น่าจะเป็นคนหลังมากกว่า เพราะคนแรกน่าจะสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เซนเซอร์ชื่อบุคคลออกได้ไม่ยาก (ดังที่ผมเซนเซอร์บางข้อความด้วยขีดสีดำหนานี้) แต่คนหลังอาจจะต้องการปกปิดชื่อพ่อของเขา (หัวกระดาษและมุมล่างซ้าย) และชื่อบุคคลบางคนในเนื้อความ (กลางกระดาษ - ปรีดี?) ไม่ให้มีโอกาสปรากฏเลย จึงใช้วิธีฉีกออกตั้งแต่ก่อนส่งมอบเอกสารให้

การฉีกหัวจดหมายออก ทำให้วันที่ของจดหมายหายไปด้วย เหลือแต่ "ยน 2525" ถ้านี่เป็นจดหมายจริง แสดงว่า ปรีดีเขียนในเดือนใดเดือนหนึ่งคือ เมษายน, มิถุนายน, กันยายน หรือ พฤศจิกายน ปี 2525 นั่นคือ ภายในเพียง 1 ปีก่อนเขาจะถึงแก่กรรม

สิ่งที่ทำให้เอกสารนี้ ดู "สมจริง" ในทัศนะของผม ก็คือเนื้อหาหรือข้อความที่เป็นใจกลางของเอกสาร ซึ่งไม่ยาวนัก ดังนี้
ผมได้รับการติดต่อ และได้รับข้อมูลบางอย่างจากคนสนิทของท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงที่ผมลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน รายละเอียดคือ

"วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ก่อนที่จะมีการประหาร [ชีวิต? - สมศักดิ์] ของผู้ถูกประหารทั้งสาม คุณชิต สิงหเสนี ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ฟังว่าวันเกิดเหตุ กระผมหมายถึงคุณชิต สิงหเสนี นั่งอยู่ที่ทางเข้าห้องพระบรรทม ในช่วงเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พร้อมกับนายบุศย์ ปัทมศริน กระผมเห็น [เซนเซอร์ - สมศักดิ์] ก่อนที่จะมีเสียงปืนลั่น ประมาณไม่เกินสิบนาที หลังจากนั้นกระผมวิ่งเข้าไปในห้องพระบรรทม เห็น [เซนเซอร์ - สมศักดิ์] หลังจากนั้นกระผมได้วิ่งออกไปจากห้องพระบรรทม และกระผมก็ได้เล่าให้ [กระดาษถูกฉีกขาด - สมศักดิ์] [เซนเซอร์ - สมศักดิ์]"
ข้อความนี้มีความ "สมจริง" ไม่เพียงแต่เพราะมีความยาวพอเหมาะ คือ ชิตคงไม่สามารถเล่าอะไรได้มากกว่านี้และถ้ามีการบันทึกและถ่ายทอดผ่านมาถึงปรีดีก็จะไม่ยาวไปกว่านี้ (เอกสารฉบับที่ผมนำมาเล่าข้างต้น "พยายานมมากเกินไป" เล่าเรื่องต่างๆยาวเกินจริงและเรื่องที่เล่าก็ไม่สมจริงนัก) แต่ที่สำคัญ ผมมักจะจินตนาการ บนพื้นฐานของการศึกษากรณีสวรรคตอย่างเข้มข้นมานาน ว่า หากชิตเล่าความลับบางอย่างให้เผ่าฟังจริง (ซึ่งผมคิดว่าจริง) เนื้อหาหรือข้อความที่เขาเล่า จะมีลักษณะแบบเดียวกับที่ปรากฏในเอกสารนี้ ไม่มากไม่น้อยกว่านี้

ผมควรกล่าวด้วยว่า ในแง่เนื้อความของเอกสาร มีจุดเล็กๆ 2 จุด ที่อ่านแล้วไม่สู้จะรู้เรื่อง (make sense) นัก คือบรรทัดก่อนสุดท้ายของย่อหน้าแรก " และเห็นว่าเพื่อช่วยให้ความเข้าใจของผมแจ่มแจ้งขึ้น" และ บรรทัดก่อนสุดท้ายของย่อหน้าสุดท้าย "ผมขอให้ท่าน [ผู้รับจดหมาย? - สมศักดิ์] ช่วยให้ความชัดเจนกับเรื่องที่เกิดขึ้น" ทั้ง 2 วรรคนี้ เหมือนกับว่า "ปรีดี" หรือผู้ทำเอกสารในชื่อปรีดี จะเขียนไม่ครบ ตกหล่นไม่ต่อเนื่องกับส่วนอื่นของประโยคและย่อหน้า? แน่นอน ไม่ใช่ว่า ถ้าจดหมายนี้ ปรีดีเขียนเองจริง จะเป็นไปไม่ได้ ที่จะไม่มีข้อความตกหล่น ไม่ชัดเจนในลักษณะนี้ เช่น สมมุติว่า ถ้าจดหมายนี้เขียนในเดือนพฤศจิกายน 2525 ไม่กี่เดือนก่อนถึงแก่กรรม ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พลังของเขาได้ลดลงไปมาก ไม่เต็มที่?

ในที่สุดแล้ว ถ้าผู้เผยแพร่ "จดหมายปรีดี" ฉบับนี้ และโดยเฉพาะ "ลูกชายของอดีตลูกศิษย์ปรีดี" ที่เป็นเจ้าของเอกสารอยู่เดิมหลายปี (ตามการบอกเล่าของผู้เผยแพร่) จะได้ออกมาอธิบายความเป็นมาและยืนยันความเป็นเอกสารแท้จริง (authentic document) ของจดหมายฉบับนี้ ก็จะเป็นคุณูปการอย่างมากให้กับการศึกษากรณีสวรรคตและประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่โดยรวม